รู้จัก'ลีเจียนแนร์''โรคร้าย'กลายเป็นเรื่องเล็ก

หน้าฝนนอกจากจะสร้างความเสี่ยงต่อการเป็นหวัด อากาศที่มีความชื้นสูง ตลอดจนความเฉอะแฉะ ยังเอื้อต่อการเพาะเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคเล็กๆ อย่างเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ
          คงจำกันได้ถึงการระบาดของโรคลีเจียนแนร์ เมื่อ 2 ปีก่อน ที่จังหวัดทางภาคเหนือ ครั้งนั้นมีนักวิชาการสาธารณสุขรายหนึ่งออกมาเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกำลังหวาดผวาจาก เชื้อโรคตัวนี้ที่แฝงอยู่ตามโรงแรมทั่วประเทศไทย บางกระแสก็บอกว่าเป็นโรคอุบัติใหม่
          บางกระแสก็บอกว่าเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงกว่าไข้หวัด 2009 ผู้ติดเชื้ออาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์!
          โดยเชื้อโรคตัวนี้จะอาศัยอยู่ในระบบ ปรับอากาศ ระบบจ่ายน้ำร้อน-เย็น ตามโรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายผู้ป่วย ไข้หวัดใหญ่ คอแห้ง ไอแห้ง ปวดศีรษะ ตัว ร้อนจัด ฯลฯ
          จนกระทั่ง นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคในขณะนั้น ต้องออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวว่าไม่เป็นจริง
          เมื่อไม่นานมานี้ชื่อ "ลีเจียนแนร์" ก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีกลาย มีหลายหน่วยงานแสดงความเป็นห่วง "สนามบินดอนเมือง" ที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หลังกลับมาเปิดใช้อีกครั้ง สนามบินอาจจะเต็มไปด้วยเชื้อ ที่ก่อให้เกิดโรค "ลีเจียนแนร์" เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอย่างชัดเจน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดการบรรยายเรื่อง "รู้จักโรคลีเจียนแนร์...ภัยใหม่คุกคามการท่องเที่ยว" โดย นายแพทย์โรม บัวทอง นายแพทย์ประจำสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลีเจียนแนร์ว่า
          โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires disease)เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ลีจิโอ เนลลา นิวโมฟิลา (Legionella pneumophila) เชื้อนี้พบได้ทั่วโลกทั้งเขตร้อน เขตหนาว ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น
          เชื้อนี้จะอาศัยอยู่ในน้ำ ไม่ว่าจะในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น แม้กระทั่งในบ้านเรือนของเรา โดยเชื้อจะแฝงตัวอยู่ตามฝักบัวที่เราใช้อาบน้ำกัน ก๊อกน้ำ แท็งก์น้ำตามบ้านก็สามารถเป็นแหล่งเพาะเชื้อนี้ได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ในตะไคร่และตะกอนน้ำ ... เห็นได้ชัดว่าเชื้อนี้อยู่ใกล้ตัวคุณกว่าที่คิด
          การแพร่กระจาย ของ legionellaเชื้อลีจิโอเนลลา นิวโมฟิลาจะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่มีอุณหภูมิ 25-45 องศาเซลเซียส มีชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือนในสภาพแวดล้อมที่มีความ ชื้นสูง เชื้อนี้แบ่งตัวได้โดยอาศัยสาหร่ายและสัตว์เซลล์เดียว เชื้อมักปนเปื้อนมากับละอองน้ำและเข้าสู่ทางเดินหายใจ
          แล้วโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่หรือไม่?? คำตอบคือ ลีเจียนแนร์ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ เนื่องจากมีบันทึกว่าการพบผู้ป่วยรายแรกในปี พ.ศ.2490 เกิดระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ.2500 ที่รัฐมินนิโซตา มีการระบาดครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2519 ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา การระบาดในครั้งนั้นมีผู้ป่วยจำนวน 182 ราย และเสียชีวิต 29 ราย หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็พบว่า โรคนี้เกิดขึ้นทั่วทวีปอเมริกาเหนือ รวมทั้งออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และยุโรป ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2527
          ฟังดูน่าตกใจ แต่เราสามารถป้องกันได้โดย คุณหมอโรม บัวทอง ให้ความรู้เพิ่มเติม ต่อไปว่า
          อาการของผู้ป่วยเป็นโรคลีเจียนแนร์นั้นสามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ
          1.ไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) อาการ ที่แสดงเหมือนกับโรคลีเจียนแนร์ในช่องปอด
          แต่อาการจะไม่รุนแรง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไข้สูง มีไอร่วมด้วย แต่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปอดบวม ไม่มีภาวะปอดอักเสบ สามารถหายเองได้ภายใน 2-5 วันแม้จะไม่ได้รับการรักษา
          2.โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires disease) มีอาการคล้ายปอดอักเสบ ลักษณะอาการเริ่มด้วยการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ภายใน 1 วัน จะมีไข้สูงหนาวสั่น อุณหภูมิสูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส ไอไม่มีเสมหะ ปวดท้อง อุจจาระร่วง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีจะมีอาการ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น อ่อนเพลีย อุจจาระร่วง และมีภาวะโซเดียมต่ำร่วมด้วย หากเชื้อเข้าสู่ ปอดจะทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง และ มักพบว่า ภาพเอกซเรย์ปอดมีการอักเสบเป็นปื้นหรือจุดขาว ถ้าเป็นมากอาจพบที่ปอดทั้งสองข้างทำให้การหายใจล้มเหลวถึงเสียชีวิตได้
          โรคลีเจียนแนร์ พบได้ในทุกฤดูกาล สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย กลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคนี้คือ ช่วงอายุที่มีความเสี่ยงสูงคือ ผู้สูงอายุ คนที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จัด กลุ่มบุคคลที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคไต โรคปอด โรคเบาหวาน โรคติดเชื้อ เอชไอวี และผู้ที่อยู่ระหว่างการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ (ไต หัวใจ)
          "การติดต่อของโรคเกิดได้จากการสูดหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในละอองฝอย ของน้ำจากแหล่งที่มีเชื้อโรคอาศัยอยู่ หรือสำลักน้ำจากแหล่งน้ำ ซึ่งพบว่าเป็นวิธีการติดต่อที่พบได้มากที่สุด สำหรับประเทศไทยพบว่ามักเกิดจากการเข้าพักตามโรงแรมใหญ่ๆ ที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศรวม แต่ยังไม่ปรากฏการแพร่เชื้อจากคนไปสู่คน"
          แล้วโรคลีเจียนแนร์คุกคามการท่องเที่ยวอย่างไร??
          คุณหมอกล่าวว่า โรคนี้ประเทศในสหภาพยุโรปเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก หากพบว่านักท่องเที่ยวติดเชื้อจากประเทศไทย หน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศของสหภาพยุโรป จะมีมาตรการสั่ง Tour operator ห้ามส่งนักท่องเที่ยวเข้าพักโรงแรมดังกล่าว และถอนนักท่องเที่ยวออกจากโรงแรมที่พักทันทีและจะแจ้งเหตุการณ์ไปยังองค์การ อนามัยโลก และกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะติดโรคหากเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวลด น้อยลงส่งผลต่อจำนวนกระทบต่อท่องเที่ยว
          ฉะนั้นแล้วการดูแลรักษาความสะอาดของเครื่องปรับอากาศและแหล่งกักเก็บน้ำ ถือเป็นการช่วยป้องกันตนเองและคนใกล้ชิดจากโรคดังกล่าว ซึ่งทำได้เองด้วยวิธีการต่างๆ ต่อไปนี้
          สำหรับเครื่องปรับอากาศควรทำความสะอาด 1-2 ครั้งต่อเดือน ไม่ให้มีตะไคร่เกาะ หมั่นล้างทำความสะอาด ถังเก็บน้ำ ขัดล้างหัวก๊อกน้ำ ฝักบัว เป็นประจำ 1-2 ครั้งต่อเดือน ไม่ให้มีตะไคร่เกาะ ควรถอดหัวก๊อกน้ำและฝักบัว ออกมาแช่น้ำร้อน 65 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที หรือแช่สารละลายคลอรีนที่มีความเข้มข้น 10 ppm. นาน 5 นาที (ระวังคลอรีนกัดกร่อนโลหะ) อุปกรณ์ที่ถอดไม่ได้ให้ฉีดด้วยน้ำร้อน 65 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที
          เท่านี้ก็สามารถช่วยป้องกันตนเองและคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจาก "โรคลีเจียนแนร์" ได้แล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/08/2555 ]

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand