"รู้เท่าทันมะเร็งเต้านม"

โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่มนุษย์รู้จักกัน มานาน ก่อนคริสต์ศตวรรษ 3000 ซึ่งมีบันทึกโดยแพทย์ชื่อ อิมโฮเท็ป ซึ่งได้กล่าวว่าโรคมะเร็งเต้านมจะมีลักษณะเป็นแผลที่เต้านมเหมือนกับลักษณะ ที่รู้กัน              

ในปัจจุบัน  และการรักษาเป็นไปในแบบการรักษาแผลที่เต้านม ฮิบโปรเครติส บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของโลก  ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมไว้ว่ามันเป็นโรคที่โตลุกลามและ ส่วนที่แพร่กระจายไม่สามารถหายได้  ผู้ป่วยจะเสียชีวิต  แพทย์ผู้นี้เป็นผู้ที่แยกความแตกต่างระหว่างมะเร็งเต้านมกับเนื้องอกธรรมดา
      
สมัยต่อมามีศัลยแพทย์กาเลนและลิโอนิค  ได้ให้การรักษามะเร็งเต้านมด้วยศัลยกรรมโดยการตัดเต้านมในวงกว้างผ่านเนื้อ เต้านมที่ปกติ โดยใช้การจี้ด้วยความร้อน,ห้ามเลือดและกำจัดเนื้อมะเร็ง  กาเลนเป็นผู้ที่เชื่อว่ามะเร็งเต้านมเริ่มต้นก่อนที่เต้านมเติบโตและลุกลาม ไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และกระจายสู่กระแสเลือด  และเป็นผู้ที่กล่าวถึงเรื่องการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น เมื่อก่อน ค.ศ. 2000 ซึ่งฮอลสเต็คและ ไมเออร์ ได้ใช้การผ่าตัดเต้านมพร้อมกล้ามเนื้อหน้าอก  และต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้ และเหนือกระดูกไหปลาร้าในปี ค.ศ. 1907  และมีการพัฒนาการจนถึงปัจจุบัน  มีการคิดค้นพัฒนาทางการแพทย์  เช่น การดมยาสลบ, ความรู้ทางกายวิภาค, ความรู้ทางสรีระวิทยา, ความรู้ทางพยาธิวิทยา, การใช้รังสีบำบัด  และการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์    พัฒนาการทางการผ่าตัดมะเร็งเต้านมโดยการเก็บ-กล้ามเนื้อหน้าอก และเลาะต่อมน้ำเหลืองที่เริ่มเมื่อปี ค.ศ. 1948 โดยแพทย์ปาเตและไคสัน  และปี ค.ศ. 1970  เริ่มมีการรักษามะเร็งโดยการเก็บเต้าและต่อมน้ำเหลืองระดับ I-II มาจนกระทั่งปัจจุบัน รวมถึงการตรวจ  ต่อมน้ำเหลืองที่มีท่อน้ำเหลืองเชื่อมต่อกับก้อนมะเร็ง (Sentinel  Node) เพื่อดูระยะของโรค

จากประสบการณ์การรักษามะเร็งเต้านม ด้วยการผ่าตัด  และพัฒนาการตรวจและรักษาด้วยรังสีบำบัด  มีการพัฒนาการใช้ยารักษามะเร็ง ซึ่งในระยะแรกมียา 5FU ที่นำมาใช้ในมะเร็งเต้านม และต่อมามียาอื่น ๆ อีกหลายตัว เป็นยาผสมผสานในการรักษามะเร็งที่มีทั้งยาฉีดและยารับประทานถึงแม้ว่า ปัจจุบันจะมีการรักษามะเร็งเต้านมที่ดีขึ้นก็ตาม มะเร็งเต้านมยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์ในแต่ละปี เป็นอันดับต้นของโลกมนุษย์และในประเทศไทย

ในประเทศไทยปัจจุบันสถิติอุบัติการณ์ในสตรี  จำนวนผู้ป่วยใหม่ของมะเร็งเต้านมปีละประมาณ  12,000 คน และพบว่าเป็นมะเร็งอันดับ 1 แซงหน้ามะเร็งปากมดลูก ในกรุงเทพมหานครพบว่ามีสถิติการเกิดคิดเป็น 20.6 ต่อ ประชากร 100,000 คน นับว่าสูงสุดของประเทศ  สถิติการตายจากโรคมะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งที่เป็น  ถ้าเป็นระยะที่หนึ่งโอกาสรอดชีวิต (Survival rate)  5 - 10 ปี จะมีโอกาสถึง 80%  ถ้าเป็นระยะที่สอง เหลือ 60 % ระยะที่สาม เหลือ 40 % และระยะที่สี่โอกาสรอดชีวิตจะต่ำกว่า 20 %

สาเหตุที่มะเร็งเต้านมในประเทศไทยมีสถิติเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากประชาชนไม่ทราบวิธีป้องกันสาเหตุ ตัวอย่าง เช่น สาเหตุจากพันธุกรรม (BRCA1, BRCA2), สตรีเพศ, อายุที่มากขึ้น, ความผิดปกติของประจำเดือนที่เริ่มมีในอายุที่น้อยลงหมดเมื่ออายุมากขึ้น, การให้ฮอร์โมนเพศเป็นระยะเวลานาน, ไม่มีบุตร, การโดนรังสีบริเวณหน้าอก,ความผิดปกติของเนื้อเยื่อในเต้านมบางชนิด, อาหารไขมันสูง, ความอ้วนและการไม่ออกกำลังกาย ที่กล่าวมาแล้วเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งเต้านม   ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเป็นเรื่องที่สตรีจำเป็นต้องรู้และเข้ารับการตรวจคัด กรองโดยวิธีเอกซเรย์แมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมประจำปีตั้งแต่อายุ 39 ปีขึ้นไป โดยวิธีนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกได้ ที่จะทำให้ผลการรักษาดี  มีโอกาสหายขาดมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์  ดังนั้นถ้าสตรีไทยได้ทราบปัจจัยเสี่ยง, ตรวจหาคัดกรองมะเร็งเต้านมและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เชื่อแน่ได้ว่าจะทำให้มะเร็งเต้านมลดลงและอัตราการตายก็จะลดลงได้อย่าง แน่นอน

ด้วยวิทยาการการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกของเต้านม ปัจจุบันนอกจากการใช้แมมโมแกรมและอัลตราซาวด์แล้ว ยังมีการตรวจพิเศษโดยใช้คลื่นแม่ เหล็กไฟฟ้าซึ่งช่วยให้ความแม่นยำมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็อาจจะสูงขึ้นด้วย หลังจากพบว่ามีความผิดปกติของเนื้องอกที่เต้านม โดยวิทยาการสมัยปัจจุบันมีการตรวจโดยใช้การตรวจเซลล์เจาะดูดหรือตัดจากชิ้น เนื้อ ซึ่งจะทำให้สามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หลังจากนั้นก็จะเป็นการรักษา ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งด้วยการผ่าตัดต่อไป

วิทยาการปัจจุบันในการรักษามะเร็งเต้านมนั้น เราจะแบ่งระยะอย่างคร่าวๆ เพื่อสะดวกในการเข้าใจ ดังนี้

* ระยะเริ่มแรกสุดซึ่งเป็นขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร การรักษามี 2 วิธี ที่เป็นวิธีมาตรฐาน คือ

1. การตัดเต้าออกรวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และ Sentinel node

2. การเก็บเต้าโดยตัดก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็งออกหมด แล้วตามด้วยการเลาะต่อมน้ำเหลืองรวมถึง Sentinel node ตามด้วยการให้รังสีบำบัด ถ้ามีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง

หลังจากการรักษาโดยการผ่าตัดและฉายรังสีสิ้นสุดแล้วผู้ป่วยจะได้รับการให้ยา เสริมต่อ ซึ่งจะเป็นยาเสริมเคมีบำบัด หรือยาต้านฮอร์โมน ซึ่งขึ้นอยู่กับผลชิ้นเนื้อมะเร็งนั้นเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน, โปรเจสเตอรอน

* ระยะที่เป็นก้อนเกิน 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร

การรักษาระยะนี้ใช้การรักษาได้ 2 วิธี คือ

1.การให้ยาเคมีก่อน เพื่อลดขนาดของเนื้องอกมะเร็งก่อนแล้ว  จึงผ่าตัดตามแบบแรกที่กล่าวมาแล้ว และตามด้วยเคมีบำบัดและหรือรังสีรักษา

2.การผ่าตัดเอาเต้านมออกถ้าสามารถตัดได้ แล้วตามด้วยเคมีบำบัดและ หรือรังสีรักษา

* ระยะที่เป็นมะเร็งลุกลามมากและอยู่เฉพาะที่ กล่าวคือมะเร็งที่มีขนาด 5 เซนติเมตร ขึ้นไป

การรักษาจะให้ยาเคมีบำบัดลดขนาดก้อนจนสามารถผ่าตัดได้และตามด้วยยาเคมีบำบัดต่อร่วมรังสีรักษา

* ระยะที่ลุกลามไปที่อื่นของร่างกาย

ระยะนี้หวังผลหายได้น้อย การรักษาที่สามารถให้ได้จะมีการรักษาด้วยเคมีบำบัด, ยาต้านฮอร์โมนและการรักษาอื่น ๆ เพื่อยืดชีวิตที่เหลือให้ไม่ทรมาน และ มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอควร ปัจจุบันการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจะพบว่าเป็นยาหลายๆตัวร่วมกับการรักษาทาง อิมมูโน เช่น Herceptin (Monoclonal Antibody Therapy) ซึ่งมีราคาแพงแต่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตยาวนานขึ้น 25.1 เดือนจาก 20.3 เดือน

นอกจากการรักษาจะสิ้นสุดหลังการผ่าตัดการให้ยาเคมีและยาต้านฮอร์โมนและรังสี บำบัด  ผู้ป่วยยังจะได้รับการติดตามเป็นระยะต่อเนื่องทุก 3 เดือนในปีแรก, 4 เดือนในปีที่สอง และ 6 เดือนในปีที่สามและทุกปี พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการติดตามจะพบมีการเป็นกลับซ้ำของโรคมะเร็งเดิมซึ่ง ถ้าได้รับการรักษาต่อทันท่วงทีผู้ป่วยก็จะมีชีวิตยืนยาวต่อไป ผู้ป่วยบางรายพบเป็นมะเร็งของอวัยวะอื่นขึ้นมาใหม่ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งมดลูก, มะเร็งรังไข่ และมะเร็งอื่น ๆ ถ้าพบเป็นมะเร็งเหล่านี้ในระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้หายได้

ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน   มีโอกาสหายขาดได้ถึง 80% ขึ้นไป ถ้าพบและรักษาในระยะเริ่มแรกเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดีว่ามะเร็งนั้น ตรวจได้ในระยะเริ่มแรก คือยิ่งเล็กยิ่งรักษาหายขาดได้โดยการผ่าตัด, ยาเคมีบำบัด, ยาต้านฮอร์โมน และการฉายรังสีบำบัด และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและภาพลักษณ์ เช่นเดียวกับผู้ไม่เป็นโรค ชีวิตมีความสุข ยืนยาวหลายปี สามารถทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ครอบครัว และประเทศชาติในที่สุด
   
ข้อมูลจาก นายแพทย์กิติ จินดาวิจักษณ์ ศัลยแพทย์เต้านม กรรมการในคณะกรรมการร่วมผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคมะเร็ง รพ.พญาไท 1 / http://www.phyathai.com

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

 

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand