สุขภาพดีในวัย 50+

ดูเหมือนระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างของประชากรไทยจะเปลี่ยนไปจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปี พ.ศ.2550 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 10 ของประชากร และคาดว่าปี พ.ศ.2573 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทย การที่คนไทยเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้นนี้ เป็นผลอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ ตลอดจนตัวของผู้สูงวัยเองที่หันมาให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพและค้นคว้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น

                        เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงจัดงาน "เฮลธ์ตี้ 50+" ภายใต้แนวคิด "อายุไม่ใช่อุปสรรคของความสุข หากคุณมีสุขภาพที่ดี" เพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ของผู้สูงอายุ ให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง นับตั้งแต่การป้องกัน การตรวจวินิจฉัยและการรักษา หรือการชะลอภาวะของโรค และยังได้สาวรุ่นใหญ่ กลอเรีย มหาดำรงค์กุล มาโชว์ความพลิ้วในการเต้นลีลาศในวัย 50+ ด้วย

                        นพ.นำ ตันธุวนิตย์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การที่คนเรามีอายุยืนยาวขึ้นนับเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหากเราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นควบคู่ไปด้วย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของผู้สูงวัย เราเชื่อมั่นว่าการเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพที่ดี กระฉับกระเฉง และมีชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความสุขนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเกินเอื้อมอีกต่อไป และเป็นไปได้สำหรับทุกคน เพียงแต่ต้องอาศัยการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพ

                        ด้าน พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ อายุรแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การเตรียมร่างกายและจิตใจเพื่อเผชิญกับช่วงวัยสูงอายุ จะช่วยในการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคได้มาก หรือหากป้องกันไม่ได้ทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดการพบโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นก็ถือเป็นการชะลอความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้

                        “ในส่วนของโรคที่เกิดในผู้สูงอายุโดยตรงเราอาจจะป้องกันไม่ได้ทั้งหมด เช่น โรคกระดูกพรุน ที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้กระดูกเปราะบางไปตามวัย แต่ถ้าเราทำความเข้าใจกับโรคได้ดี แล้วป้องกันด้วยการบริโภคแคลเซียมหรือวิตามินดีให้เพียงพอ หรือตรวจหามวลกระดูกโดยไม่ทิ้งไว้จนถึงอายุ 70-80 ก็จะช่วยป้องกันได้

                        นอกจากนี้วิธีการดูแลผู้สูงอายุต้องจำแนกแต่ละช่วงออกจากกัน เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่กว้าง ซึ่งทำให้ความเสื่อมถอยในด้านต่างๆ มีความแตกต่างกันออกไป คนที่อายุ 65 ย่อมไม่เหมือนกับคนที่อายุ 95 เราจึงไม่สามารถให้การดูแลแบบเดียวกันได้ ในแต่ละช่วงวัยจะมีจุดพีคของโรคแต่ละชนิด เช่น มะเร็งเต้านมและปากมดลูก ในกลุ่มผู้หญิงวัย 50-70 ปี ส่วนในผู้ชายก็มีมะเร็งต่อมลูกหมากในกลุ่มอายุ 60 ขึ้นไป พอเข้าสู่อายุ 70-80 ปี ถึงวัยนี้หลายคนที่ดูแลตัวเองดีอาจยังมีสุขภาพกายดีได้เท่ากับคนวัย 60-70 ต้นๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีโรคต่างๆ เข้ามากระทบกับการดำเนินชีวิตมากขึ้น เริ่มไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้ เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ความสามารถในด้านความจำและการเข้าสังคมก็จะลดน้อยลง ต้องอาศัยครอบครัวดูแลมากขึ้นในหลายด้าน

                        "แล้วพอถึงช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป การพึ่งพาอาศัยคนอื่นก็จะเป็นในเกือบทุกด้าน และเริ่มมีปัญหากับร่างกายหลายอย่างพร้อมๆ กัน ตั้งแต่เรื่องการกินอยู่ เช่น กินได้น้อยลงหรือเบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ ตื่นบ่อย เบื่อหน่าย ซึมเศร้า หรือสมองเสื่อม ถึงวัยนี้คนในครอบครัวต้องเข้าไปช่วยในการจัดการชีวิตประจำวัน ช่วยดูแลเรื่องการกินยา กินอาหาร ในส่วนของแพทย์ก็จะมีบทบาทมากขึ้นในการให้คำปรึกษาแนะนำกับครอบครัวผู้สูงอายุเพื่อการดูแลที่ถูกต้องด้วย" พญ.ลิลลี่ แจกแจง

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand