รู้จัก ‘ลีเจียนแนร์’ เชื้อร้ายในอากาศ

การเปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อ 6 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากถูกน้ำท่วมและมีการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมามีสภาพพร้อมใช้งานแล้ว โดยก่อนถึงกำหนดเปิด มีความห่วงใยจากหลายฝ่าย เตือนระวังเชื้อโรคในอากาศ โดยเฉพาะ 'ลีเจียนแนร์' ที่ก่อโรคปอด เนื่องจากสนามบินดอนเมืองถูกน้ำท่วมมาเป็นเวลานาน เชื้อดังกล่าวจึงสามารถเติบโตได้ดี

สำหรับเชื้อโรคลีเจียนแนร์ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีข้อมูลที่เปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ โดยระบุว่า โรคลีเจียนเนลโลสิส (Legionellosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันจากสิ่งแวดล้อม ที่มีอาการทางคลินิกได้ 2 ลักษณะ คือ หากมีภาวะปอดอักเสบ อาการรุนแรงและอัตราป่วยตายสูง เรียกว่า โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires disease) และอีกแบบไม่มีภาวะปอดอักเสบ อาการไม่รุนแรง เรียก โรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever)

โรคนี้มีบันทึกเป็นเอกสารพบผู้ป่วยรายแรกในปี พ.ศ.2490 และมีอาการระบาดครั้งแรก ปี พ.ศ.2500 ที่รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นพบว่า โรคนี้เกิดขึ้นทั่วทวีปอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และยุโรป มักเกิดขึ้นประปรายตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่จะพบในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ในประเทศไทยพบว่า มีรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ.2527

ส่วนแหล่งรังโรค เกิดจากสิ่งแวดล้อม มักแยกเชื้อได้จากระบบน้ำร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดละอองน้ำ เช่น Cooling Tower ของเครื่องปรับอากาศแบบรวมที่ใช้ในอาคารใหญ่ๆ, น้ำพุเทียม, เครื่องเพิ่มความชื้นและถาดน้ำทิ้งของเครื่องเป่าลมเย็น, ฝักบัวอาบน้ำ, อ่างน้ำวน, เครื่องมือช่วยหายใจ เป็นต้น หากมีสภาวะที่เหมาะสมเชื้อจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและฟุ้งกระจายอยู่ใน อากาศ

การแพร่เชื้อจากคนสู่คนยังไม่ปรากฏ แต่ผู้ที่ติดเชื้อลีเจียนแนร์ จะเกิดจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในละอองฝอยของน้ำ กรณีที่ได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัวโรคลีเจียนแนร์ 2-10 วัน ส่วนโรคไข้ปอนเตียก 5-66 ชั่วโมง

อาการเริ่มจากเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ภายใน 1 วัน จะไข้สูงหนาวสั่น อุณหภูมิสูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส และมีอาการไอไม่มีเสมหะ หรือไอแห้งๆ ปวดท้อง อุจจาระร่วง

ที่สำคัญคือ ในผู้ป่วย โรคลีเจียนแนร์มักพบว่า ภาพเอ็กซเรย์ปอดมีการอักเสบเป็นปื้นหรือจุดขาว ถ้าเป็นมากอาจพบได้ที่ปอดทั้งสองข้าง บางครั้งทำให้การหายใจล้มเหลวถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งอัตราตายของโรคลิเจียนแนร์ในผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลอาจสูงถึง ร้อยละ 39 ทว่าในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือโรคมะเร็ง และในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักมีอาการรุนแรงกว่า แต่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

การป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดนี้ จำเป็นต้องดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งรังโรคอย่างเหมาะสมถูกต้องนั่นเอง

ที่มา: เดลินิวส์ วันพุธที่ 7 มีนาคม 2555

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand