ลำไส้ รั่วได้ ?
หากคำกล่าวที่ว่า ดูช้างให้ดูที่หาง ดูนางให้ดูที่แม่ เป็นคำกล่าวสุภาษิตโบราณเชยๆ ที่ยังใช้ได้ดีแล้วละก็ ความสมบูรณ์ของต้นไม้ก็น่าจะดูที่รากของมันและความแข็งแรงของมนุษย์ก็น่าจะ ดูได้จากสุขภาพของลำไส้เช่นเดียวกัน ลำไส้ของมนุษย์เราก็เปรียบเทียบได้กับรากของต้นไม้ดีๆ นี่เองเพราะรากของต้นไม้ที่ดี ก็จะดูดซึม สารอาหารดีๆ เข้าสู่ลำต้น และส่งผลให้ดอก ใบ ผล เจริญ เติบ โต งอกงาม ในทางตรงกันข้ามหากรากของต้นไม้นั้นเน่าแล้วไซร้ อย่าหวังที่จะได้เห็นการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงในระยะยาว
ลำไส้ของมนุษย์เราก็เช่นเดียวกัน
ทำหน้าที่สำคัญในการดูดซึมสารอาหารต่างๆ ที่ เราบริโภคเข้าไปสู่ร่างกาย และยังทำหน้าที่ในการเป็นปราการแบ่งแยกสิ่งแวดล้อมภายนอกและภายใน คัดกรองสารพิษ หรือ สารเคมีต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายของเราได้อีกด้วย เปรียบได้กับการเป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) ที่สนามบิน อาหารที่เรารับประทานผ่านทางปาก เปรียบได้เป็นเครื่องบิน ที่บินผ่านเข้าน่านฟ้าประเทศนั้นๆ แต่ผู้โดยสาร ในเครื่องจะเข้าประเทศได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสามารถผ่านการตรวจตราที่ต.ม.ได้หรือเปล่านั่นเอง แต่ถ้าลำไส้เกิดทำงานผิดพลาดไม่สามารถแยกแยะการดูดซึม หรือคัดกรองสารอาหารหรือสารพิษ ต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย ย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
ซึ่งเราเรียกภาวะความผิดปกติแบบนี้ว่า Leaky Gut syndrome จะเรียกว่า ลำไส้รั่วก็ไม่น่าจะใช่ เพราะฟังดูคล้ายลำไส้เป็นรูทะลุซะมากกว่า (ซึ่งอาจต้องไปให้หมอศัลยกรรมทำการผ่าตัดเย็บซ่อม รูรั่วโดยด่วน มิฉะนั้นอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้) หรือจะเรียกว่าลำไส้ซึมก็ไม่เชิง (เพราะฟังไป คล้ายๆ ลำไส้มีอาการทางจิตไปเสียนั่นเลย) เอาเป็นว่าหมอขอเรียกภาวะนี้รวมกันว่า ภาวะลำไส้รั่วซึม ก็แล้วกัน น่าจะสื่อความหมายได้ตรงประเด็นที่สุด ซึ่ง ภาวะนี้จัดเป็นภาวะการทำงานที่ผิดปกติอย่างหนึ่งของลำไส้ (Functional change) ที่ยังไม่ได้จัดว่าเป็นโรค (Disease) แต่พบว่าก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรัง หรือเกิดความผิดปกติอื่นๆ ตามมาอีก หลายอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง
พยาธิสภาพของภาวะลำไส้รั่วซึม
เกิดจากการที่เซลของผนังลำไส้ ซึ่งปกติเรียงตัวชิดติดกันอย่างเหนียวแน่น ดังเช่นกำแพงเมืองจีน เกิดการอักเสบของเซลล์ ทำให้เซลล์บวม ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารในภาวะปกติแย่ลง เจ้าตัวจึงอาจมีอาการขาดสารอาหารบางชนิดได้ และที่สำคัญคือรอย ต่อระหว่างผนังเซล (TIGHT JUNCTION และ GAP JUNCTION) ที่ปกติจะเป็นตัวล็อกยึดเซลล์ไว้ด้วยกัน เมื่อเซลล์บวมและอักเสบทำให้เกิดปัญหาแยกออกจากกันจนเกิดเป็นช่องว่างจนสาร พิษ หรือ สารเคมีต่างๆ สามารถผ่านและเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายเราได้ ทำให้เกิดอาการของสารพิษตกค้างสะสมในเซลล์ ส่งผลให้เซลล์ของร่างกายทำงานแปรปรวน เช่น มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย สมองมึนงง ฮอร์โมนผิดปกติ เป็นต้น
ผลเสียอื่นๆที่เกิดขึ้นตามมา
สารพิษ หรือสารเคมีที่เล็ดลอดเข้าไปในร่างกายเหล่านี้ อาจไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแปรปรวน เกิดเป็นผื่นแพ้ ผื่นไร้สาระ หรือ ผื่น แพ้เครื่องสำอางต่างๆ ทั้งๆ ที่เคยใช้เครื่องสำอางนั้นๆ อยู่เป็นประจำมาก่อน บางคนเกิด เป็นผื่น สิว เรื้อรัง ในวัยผู้ใหญ่ที่รักษาไม่หายขาด หรือแม้กระทั่ง เกิดภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาด ไปทำร้ายและทำลายตัวเอง กลาย เป็นโรคในระบบภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Auto-immuned disorder) เช่น S.L.E. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้ ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่นอน
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้
ด้วยเซลล์ของผนังลำไส้นั้นเรียงตัวกันเป็นเซลล์ชั้นเดียว ดูบอบบางมาก ไม่เหมือนกับเซลล์ผิวหนังที่ยังเรียงตัวกันหลายชั้น ดังนั้น ปัจจัยหลายอย่างจึงมีผลกระทบทำให้เซลล์ผนังลำไส้เกิดการอักเสบ บวม และเกิดภาวะลำไส้รั่วซึมได้ง่ายเช่น ความ เครียด การอดนอน การขาดสารอาหาร การบริโภคสารน้ำตาลมากๆ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การทานยาปฏิชีวนะ หรือ ยาแก้ปวดแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs นานๆ สารพิษสารเคมี ยาฆ่าแมลง สารโลหะหนักที่ปนเปื้อนมาในน้ำและอาหาร ภาวะลำไส้อักเสบติดเชื้อ การแพ้อาหารแฝง การทาน ยาลดกรดพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น การขาดน้ำย่อยจากตับอ่อน ความเร่งรีบในการทานอาหารการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดภาวะยีสต์ในลำไส้ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าภาวะ ต่างๆ เหล่านี้ เราพบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวันของเรา จึงไม่แปลกนักที่เราจะพบภาวะลำไส้รั่วซึมได้บ่อยในมนุษย์สังคมปัจจุบัน
เหตุใดลำไส้จึงรั่ว
หากจะมีสิ่งใดทำให้ลำไส้รั่วได้ คงหนีไม่พ้นเป็นสิ่งที่สัมผัสกับลำไส้อยู่เป็นประจำ นั่นก็คือ อาหารและยา ทั้งยังมีข้อมูลอีกว่า ความเครียด ก็ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเหมือนกันโดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลขัดขาว จะไปกระตุ้นให้เกิดยีสต์ในร่างกายมากกว่าปกติ กลายเป็นแหล่งชุมนุมยีสต์คอยก่อกวนผนังลำไส้จนรั่วได้ในที่สุด
อีกหนึ่งสาเหตุที่มองข้ามไม่ได้อย่างที่กล่าวไปแล้วคือ พฤติกรรมการบริโภคของหนุ่มสาวคนเมือง เคยเป็นไหมที่นึกไม่ออกว่าแต่ละมื้อจะกินอะไร ไม่ว่าไปกินที่ไหนก็สั่งแต่เมนูเดิมซ้ำ ๆ เช่นตลอดทั้งสัปดาห์เมนูคือกระเพราะไก่ รับรองว่าลำไส้รั่วถามหาแน่ เพราะร่างกายจะได้สารอาหารเดิมซ้ำซาก จนลำไส้ไม่ชินกับความหลากหลาย สารเคมีตกค้างในอาหารจานนั้นจะเข้าไปสะสมในลำไส้ตลอดเวลา เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงออกฤทธิ์ทำร้ายจนไส้รั่วได้เช่นกัน
ส่วนยาที่ทำร้ายลำไส้คงหนีไม่พ้นจำพวก ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด และยาปฏิชีวนะทั้งหลาย ซึ่งออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียโดยไม่เลือกว่าเป็นเชื้อดีหรือเชื้อร้าย จนไม่มีแบคทีเรียตัวดีคอยรักษาสมดุล ลำไส้จึงอ่อนแอและทำงานผิดปกติได้
สาเหตุหลักอีกอย่างคือ ความเครียด จะเรียกว่า “สมองสั่งไส้” ก็ไม่ผิดนัก เพราะเมื่อเราเครียดสมองจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมา ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายทางรวมทั้งการบีบตัวของลำไส้ด้วย อย่างที่เคยได้ยินกันว่าเครียดลงกระเพาะหรือเครียดลงลำไส้นั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุย่อยอื่น ๆ เช่น โรคตับ เนื่องจากตับมีหน้าขับสารพิษ เมื่อตับทำงานผิดปกติสารพิษจึงถูกส่งต่อสู่ลำไส้ และโรคเบาหวาน ที่ทำให้ลำไส้ผู้ป่วยบีบตัวช้าหรืออาการลำไส้ขี้เกียจ จึงมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารย่อยช้า โอกาสที่ลำไส้จะสัมผัสกับอาหารที่หมักหมมก็นานขึ้น ความเสี่ยงติดเชื้อจนไส้รั่วจึงมากตามไปด้วย
แนวทางการวิจัยและการรักษา
ภาวะนี้ไม่สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจโรคระบบทางเดินอาหารแบบแพทย์แผน ปัจจุบัน ที่เราคุ้นเคยกัน เช่น ใช้การส่องกล้อง กลืนแป้ง หรือ สวนแป้ง แล้วถ่ายภาพรังสี เพราะภาวะนี้ไม่ได้มีความผิดปกติของลำไส้ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ แต่เป็นการทำงานที่ผิดปกติจึงต้องตรวจการทำงานของลำไส้ในการดูดซึม โดยใช้การตรวจด้วยวิธี Lactulose-Mannitol test โดย จะให้คนไข้กลืนน้ำตาล 2 ชนิดที่มีขนาดโมเลกุล ไม่เท่ากันแล้วเก็บปัสสาวะของคนไข้ไปตรวจหาน้ำตาลชนิดนั้นๆ ภายหลังจากที่ดื่มน้ำตาลเข้าไปแล้ว โดยปกติ น้ำตาล Lactulose เป็นน้ำตาลที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ มักจะไม่ผ่านการดูดซึมโดยผนังลำไส้ในภาวะปกติได้ จึงมักจะไม่ตรวจพบในปัสสาวะของคนไข้ ดังนั้นถ้าหากตรวจเจอน้ำตาลชนิดนี้ ก็แสดงว่าต้องมีภาวะรั่วซึมของผนังลำไส้แน่นอน ส่วนน้ำตาล Mannitol เป็นน้ำตาลที่มีขนาดโมกุลเล็ก ซึ่งในภาวะลำไส้ปกติสามารถดูดซึมผ่านเข้าผนังลำไส้ และตรวจพบในปัสสาวะได้หลังจากดื่มเข้าไป แต่ในภาวะที่ลำไส้รั่วซึมทำให้มีการดูดซึมของลำไส้ลดลง เพราะเซลล์ที่อักเสบและบวม ทำให้ตรวจพบปริมาณน้ำตาลชนิดนี้ในปัสสาวะลดน้อยลงกว่าปกติ ซึ่งจะเป็นการช่วยวินิจฉัยภาวะนี้ได้
แนวทางการวินิจฉัยและการรักษา
การรักษาภาวะนี้ จะใช้โปรแกรม 4R Program ซึ่งได้แก่
Remove คือการลดหรือกำจัดต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วซึมต่างๆ
Replace คือ การให้สารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการย่อยอาหารให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เช่น กรดไฮโดรคลอริก น้ำย่อยชนิดต่างๆ สมุนไพรที่ช่วยการทำงานของลำไส้
Repopulate คือการเสริมสร้างแบคทีเรียชนิดดี และอาหารของมัน เพื่อเป็นเสมือนทหารชั้นดี ที่คอยปกป้องและป้องกันแนวกำแพงผนังลำไส้ให้แข็งแรงอยู่เสมอ
Repair คือการให้สารอาหารหลากหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซ่อมแซมและฟื้นฟูผนังลำไส้ให้กลับคืนสภาพที่สมบรูณ์และแข็งแรงดังเดิม
ในการรักษาด้วยวิธีการนี้ แพทย์ทางด้านศาสตร์ชะลอวัยนี้ก็จะเป็นผู้ให้คำแนะนำได้ดี หลายคนที่มัวแต่ใส่ใจแค่เพียงอวัยวะสำคัญๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ ปอด ตับ ไต หรือผิวหนัง ฯลฯ โปรดอย่าลืมนะคะว่า ลำไส้เป็นอวัยวะซ่อนเร้นที่อาจถูกลืม แต่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน เราจึงต้องดูแลเอาใส่ใจให้แข็งแรงด้วยเช่นเดียวกัน
ขอขอบคุณขัอมูลจาก คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์