home » โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์และการดูแลด้านจิตใจ »

โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์และการดูแลด้านจิตใจ

โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคในกลุ่มสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่ของสมองส่วนต่างๆ แสดงออกมาเป็นกลุ่มอาการความบกพร่องในกระบวนการทางความคิด ได้แก่ ความจำบกพร่อง ลืมง่าย สติปัญญาและความสามารถลดลง

การเรียนรู้ได้ช้าลง การตัดสินใจไม่เหมาะสม การแก้ปัญหาได้ลดลง หลงวัน เวลา สถานที่ แม้กระทั่งบุคคลใกล้ชิด การรับรู้เสียไป ความสนใจ ตั้งใจ สมาธิลดลง ความสามารถทางสังคมลดลง มีความยากลำบากในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น สวมเสื้อผ้า ติดกระดุมไม่ได้ รับประทานอาหารเองไม่ได้ มีความผิดปกติทางภาษาและการติดต่อสื่อสาร ทั้งทางการพูด การเขียน อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย น้อยใจ ร้องไห้ ก้าวร้าวโดยไม่มีเหตุผล แสดงอารมณ์ไม่เหมาะสม รวมทั้งบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวผิดปกติ พฤติกรรมบกพร่อง จนถึงอาการของโรคจิตที่มีประสาทหลอน หลงผิดได้

โรคอัลไซเมอร์มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ไม่เฉพาะตัวผู้ป่วยเอง ยังมีผลกระทบต่อญาติหรือผู้ดูแล ที่ต้องรับภาระดูแลผู้ป่วย ผลกระทบต่อญาติที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้า เบื่อหน่าย กังวล ผิดหวัง เศร้า ว้าเหว่เหมือนถูกทอดทิ้งให้รับผิดชอบผู้ป่วยอยู่คนเดียว บางครั้งผู้ดูแลหรือญาติอาจเกิดปัญหาหรือมีคำถามต่างๆ อยากปรึกษา แต่ไม่รู้จะถามใครดี จะถามอะไรบ้าง ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำไปแล้วถูกต้องหรือดีหรือยัง บางครั้งรู้สึกผิด คิดว่าตนเองเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยน้อยใจ เสียใจ,โกรธหรือเกิดปัญหาทางอารมณ์ ฉะนั้นการดูแลทางด้านจิต-สังคมในโรคอัลไซเมอร์จึงมีความสำคัญไม่เฉพาะใน ส่วนตัวผู้ป่วย ยังต้องดูแลไปถึงสภาวะจิตใจของผู้ดูแลหรือญาติด้วย เพราะระยะของโรคและความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับปัจจัยทางจิต-สังคมของผู้ป่วย ด้วย และความสัมพันธ์กับผู้ดูแลหรือญาติด้วย ถ้าผู้ป่วยพื้นฐานสติปัญญาดี การศึกษาดี ก็อาจจะควบคุมปัญหาทางจิตได้ดี หรือถ้าปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมหรือญาติที่ดูแลก่อให้เกิดดความวิตกกังวล อารมณ์เศร้าหรือความเครียดก็อาจทำให้อาการของโรคอัลไซเมอร์เป็นมากขึ้นได้

ระยะของโรคอัลไซเมอร์มีความสำคัญสำหรับผู้ดูแล เพื่อการเข้าใจว่าอาการระยะใดมีอะไรบ้าง และควรได้รับการช่วยเหลือเช่นใดบ้าง เช่น

1. ระยะสับสนระยะแรก ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการลืมง่าย สับสนเป็นครั้งคราว การตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้าลง การพูดคุยในสังคมจะผิวเผินขึ้น เพราะมีปัญหาเรื่องความจำจะไม่พยายามลงรายละเอียด เพราะผู้ป่วยจะจำไม่ได้ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เคยเป็นคนอารมณ์ดี อาจหงุดหงิดง่ายขึ้น โมโห เอาแต่ใจตนเอง เป็นต้น ปฏิเสธอาการที่ตนเองเป็น มีอาการทางอารมณ์ อาจวิตกกังวลง่าย หรือเศร้า เพราะปัญหานึกอะไรไม่ค่อยออก ความสามารถของตนเองลดลง

2. ระยะสับสนระยะหลัง ความจำจะบกพร่องมากขึ้น การตัดสินใจผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเงินทอง ความสามารถในการทำงานในบ้านลดลง เสียการรู้จัก เวลา และสถานที่ แต่ยังจำบุคคลที่รู้จักกันได้ อาจมีอาการซึมเศร้า

3. ระยะสมองเสื่อมระยะแรก จะต้องพึ่งพาผู้อื่น ความจำบกพร่องมากขึ้น มีปัญหาอารมณ์มากขึ้น การมีเหตุผลและการตัดสินใจลดลง เริ่มแยกตัวออกจากสังคม เพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนเองมีปัญหาเรื่องต่างๆ ต้องการการช่วยเหลือ สนับสนุนประคับประคองให้กำลังใจมากขึ้น

4. ระยะสมองเสื่อมระยะกลาง ความสามารถต่างๆลดลง อาจมีปัญหาพฤติกรรมและความคิดผิดปกติ มีอาการหลงผิด มักระแวงคิดว่าคนอื่นคิดไม่ดีจะมาทำร้ายตน นอนไม่หลับ อาจมีหูแว่ว ประสาทหลอน ทำอะไรซ้ำๆ มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ผู้ดูแลต้องช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ผู้ป่วยช่วยตัวเองไม่ค่อยได้

5. ระยะสมองเสื่อมระยะปลาย ผู้ป่วยจะช่วยตัวเองไม่ได้มากขึ้นๆ รับประทานอาหารน้อยลงจนอาจมีปัญหาทางกาย ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือในทุกๆเรื่อง

จะพบว่าอาการของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จะค่อยๆมีมากขึ้น รุนแรงขึ้น จนต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือทุกๆด้าน ฉะนั้นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จึงมีความสำคัญมากและจำเป็นต้องเข้าใจ อาการและความรุนแรงของอาการที่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อจะเข้าใจและไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลเอง

มีข้อสังเกตที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ เพื่อผู้ดูแลจะได้เข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

1. อาการของโรคอัลไซเมอร์ เป็นการแสดงออกที่ปกติของผู้สูงอายุ แต่จะรุนแรงกว่าผู้สูงอายุที่ปกติหรือไม่ป่วย

2. ความเสื่อมเป็นสาเหตุปกติของปัญหาในผู้สูงอายุ

3. ปัจจุบันยังไม่สามารถให้การช่วยเหลือรักษาผู้ป่วยได้มากกว่าการดูแล ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

4. โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นความเจ็บป่วยทางจิต

 

5. ครอบครัวควรเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบผู้ป่วย เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ น่าจะเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยได้ดีกว่า

 

6. ญาติทุกคนของผู้ป่วยสามารถรับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคได้

การรักษาทางจิตสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่ผู้ดูแลควรรับทราบ

1. การใช้ยา ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจมีอาการที่ต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิต-ประสาท เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า ก้าวร้าว โรคจิต ฯลฯ ผู้ดูแลก็ควรช่วยเหลือดูแลเรื่องการรับประทานยาให้สม่ำเสมอและสังเกตอาการ เพื่อปรึกษาแพทย์ให้ถูกต้อง

2. การดูแลทางด้านร่างกาย ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คือ อุบัติเหตุ ควรระมัดระวังป้องกัน สิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ควรจัดให้ดี นอกจากนี้ควรดูแลช่วยเหลือตามที่ความสามารถของผู้ป่วยพึงทำได้เท่าใด ผู้ดูแลก็ควรช่วยเหลือตามความเหมาะสม

3. การดูแลรักษาทางจิตและอื่นๆ ช่วยเหลือด้านจิตใจ ให้กำลังใจ ช่วยเหลือเรื่องการรับประทานอาหารให้พอเพียงและถูกหลักโภชนาการ ดูแลช่วยเหลือเรื่องการออกกำลังกายบ้างตามความเหมาะสม การมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การพาออกนอกบ้าน ทำกิจกรรมต่างๆ หรือการเข้ากลุ่มกับผู้อายุ หรือกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ ในช่วงระยะต้นๆ ที่ความจำยังไม่บกพร่องมาก การฝึกความจำอาจช่วยได้บ้าง

4. การดูแลรักษาผู้ดูแลเอง ผู้ดูแลที่ต้องดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ตลอดเวลาอาจนับเป็นหน้าที่ที่หนัก พอสมควร อาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาอารมณ์ บางครั้งอาจรู้สึกผิด ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำถูกต้องหรือไม่ ผู้มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจต้องดูแลสุขภาพจิตของผู้ดูแลไปด้วย

จะเห็นว่าการดูแลทางจิต-สังคมของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีความสำคัญมาก ฉะนั้นถ้าจะคำนึงถึงบทบาทของผู้ดูแลหรือญาติของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์คงมีดัง ต่อไปนี้

1. ยอมรับผู้ป่วย และอาการของโรคของผู้ป่วยว่าโรคนี้รักษาไม่หาย แต่การดูแลจะทำให้ผลกระทบด้านต่างๆลดลง

2. เข้าใจว่าที่ผู้ป่วยแสดงหรือคิด เป็นผลมาจากอาการของโรค โดยเฉพาะความบกพร่องของกระบวนการความคิด ความจำ การตัดสินใจ รวมทั้งการแสดงอารมณ์ต่างๆ มิใช่ผู้ป่วยไม่พอใจหรือโกรธผู้ดูแล แต่อาจเป็นเพราะอาการของโรคเอง ถ้าผู้ดูแลหรือญาติพยายามทำดีที่สุดแล้ว

3. ให้การดูแลเอาใจใส่ ในความเป็นอยู่ทุกๆด้านของผู้ป่วย สนใจ ช่างสังเกตในอาการ สิ่งใดก่อให้เกิดอารมณ์หรือความไม่พอใจแก่ผู้ป่วย ควรหาสาเหตุแก้ไขหรือหลีกเลี่ยง ช่วยลดความเครียดแก่ผู้ป่วย

4. ให้ความอบอุ่น ดูแลใกล้ชิด ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เมื่อมีปัญหาเรื่องความบกพร่อง อาจแยกตัวไม่เข้าสังคม ผู้ป่วยอาจเหงา ว้าเหว่ ต้องการเพื่อน ผู้ดูแลที่เข้าใจจะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วยได้ การติดต่อสื่อสารที่ดีจะช่วยได้

5. สนับสนุนให้กำลังใจ คอยช่วยเหลือตามความเหมาะสมและถูกต้องตามอาการและระยะของโรคของผู้ป่วย กระตุ้นในสิ่งที่ความสามารถของผู้ป่วยจะทำได้

6. มีส่วนช่วยในการรักษา ผู้ดูแลจะเป็นผู้ สังเกตอาการที่ผิดปกติของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ดีเพราะเป็นผู้ใกล้ชิด ถ้ามีอาการผิดปกติที่ไม่สามารถดูแลได้ควรปรึกษาผู้รู้หรือแพทย์ เช่น อาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือซึมเศร้ามากเกินไป พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ก้าวร้าว หลงผิด หูแว่ว หรืออาการโรคจิตที่อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

การดูแลด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องการความเต็มใจ ความพร้อม ความรู้สึกต่างๆในการดูแลอย่างมาก เพราะการดูแล(care) เป็นการช่วยเหลือดูแลให้ผู้ป่วยสบายที่สุดนั้น ต้องการความรู้สึกและสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ความรู้ ผู้ดูแลควรต้องมีความรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นอาการ อาการแสดง การพยากรณ์ ระยะ และความเป็นไปของโรค ตลอดจนการช่วยเหลือดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม

2. ความเกี่ยวข้องผูกพัน ญาติควรมีบทบาทในการดูแลน่าจะดีที่สุด เพราะอย่างน้อยความผูกพันใกล้ชิดจะเป็นตัวช่วยทำให้การดูแลนั้นดีขึ้น

3. ผู้ดูแลอาจต้องเสี่ยงเป็นบางครั้งในการดูแล เพราะผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ดูว่าผู้ดูแล เอาแต่ใจตัวเองจนบางครั้งก้าวร้าวโดยไม่มีเหตุผล ทำให้ผู้ดูแลอาจต้องเสี่ยงที่จะต้องรองรับอารมณ์ของผู้ป่วยเป็นบางครั้ง

4. ความไว้ใจ บางครั้งการรับปากของผู้ป่วยโรค อัลไซเมอร์ อาจทำไม่ได้อย่างที่รับปาก เพราะรับปากไปแล้ว ผู้ป่วยจำไม่ได้ ไม่ควรต่อว่าผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยเสียใจ เกิดปัญหาทางอารมณ์ได้ ควรเข้าใจว่าเป็นอาการของผู้ป่วยที่มีความจำบกพร่อง หรือบางครั้งการทำกิจกรรมบางอย่างหยุดกลางครัน เพราะผู้ป่วยขาดสมาธิ ขาดความสนใจและตั้งใจ

5. ผู้ดูแลอาจต้องมีความกล้าในการตัดสินใจ บางอย่างในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

6. ผู้ดูแลควรมีความซื่อสัตย์จริงใจต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ รับปากผู้ป่วยไปแล้วควรทำตามนั้น อย่าหลอกผู้ป่วย

7. ผู้ดูแลควรสร้างความหวังให้ทั้งผู้ป่วยและต่อผู้ดูแลเอง ตราบ ใดที่ขาดความหวังจะไม่มีความตั้งใจในการดูแลผู้ป่วย เช่น การสร้างความหวังให้กำลังใจในการทำกิจกรรม กระตุ้นให้เกิดความสำเร็จด้วยการสร้างความหวังให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งการสร้างความหวังต่อตัวเองในการดูแลผู้ป่วยให้ประสบความสำเร็จและได้ ผลดี

8. ความอดทน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ผู้ดูแลต้องอดทนต่ออาการ ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ รวมทั้งการช่วยเหลือต่างๆอย่างเต็มที่

9. ความช่างสังเกต ผู้ดูแลอาจต้องเป็นคนช่างสังเกต สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลง สังเกตสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดปัญหาอารมณ์ต่อผู้ป่วย แล้วพยายามหลีกเลี่ยง สังเกตพฤติกรรมการชอบ ไม่ชอบ ความพอใจ เสียใจ ผิดหวัง โกรธ อารมณ์ต่างๆ ของผู้ป่วย เพื่อจะได้ตอบสนองและให้การช่วยเหลือได้ถูกต้องเหมาะสม

10. อารมณ์ขัน นอกจากการสร้างอารมณ์ขันให้เกิดแก่ตัวผู้ป่วยแล้ว การมีอารมณ์ขันยังเป็นกลไกทางจิตอย่างหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้น ในตัวผู้ดูแลด้วย ช่วยทำให้บรรยากาศของการดูแลและอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ดูแลผู้ป่วยและคนรอบ ข้างดีขึ้นด้วย

ตัวอย่างการดูแลด้านจิตใจและการช่วยเหลือแก้ไขต่อปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยอัลไซเมอร์

1. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวัน

     1.1 ควรดูแลให้ผู้ป่วยได้ออกกกำลังกายบ้างตามสมควร เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง รวมทั้งจิตใจที่ดี คลายเครียดได้
     1.2 พาผู้ป่วยเข้าสังคมตามสมควร การมีเพื่อน ได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ผู้ป่วยไม่เหงา ไม่ว้าเหว่ มีส่วนร่วม
     1.3 ปล่อยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองบ้าง ถ้าคิดว่าผู้ป่วยสามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องช่วยหมดทุกเรื่อง ทุกด้าน ถ้าเข้าใจและประเมินได้ว่าผู้ป่วยสามารถทำเองได้ จำทำให้ผู้ป่วยเกิดความภาคภูมิใจ มีคุณค่า มั่นใจมากขึ้น
     1.4 พาผู้ป่วยไปเที่ยวเตร่สนุกสนานบ้างตามสมควร เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ที่ไม่ต้องใช้ความจำมากนัก เปลี่ยนบรรยากาศ ช่วยลดความเครียดในตัวผู้ป่วยได้บ้าง

2. ในการช่วยเรื่องความจำที่บกพร่องของผู้ป่วย

     2.1 อาจใช้ปฏิทินช่วยความจำของผู้ป่วยในเรื่อง วัน เวลา การนัด การมีกิจกรรมที่จำเป็น
     2.2 ใช้สมุดพกจดรายการ เช่น เรียงลำดับกิจกรรมที่จะต้องทำในวันหนึ่งๆ หรือสัปดาห์หนึ่งๆ เพื่อช่วยเตือนความจำของผู้ป่วย
     2.3 อาจใช้ป้ายชื่อ เขียนชื่อ ของที่จำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ลืมของตัวเอง
     2.4 ช่วยเตือนความจำในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น การวางของให้เป็นที่จะได้ไม่ลืมง่าย เตือนเรื่องกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำ
     2.5 ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากความจำบกพร่อง เช่น สถานที่ต่างๆ การเข้าห้องน้ำในเวลากลางคืน เป็นต้น ควรมีแสงสว่างพอเพียงติดสัญลักษณ์ตามทางเดิน เป็นต้น

3. การติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การติดต่อสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจจำเป็นต้องใช้ทั้งคำพูดและ ท่าทาง คำพูด น้ำเสียง แววตา ท่าทาง การสัมผัส มีผลต่อความรู้สึกและจิตใจของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั้งนั้น จึงควรปฏิบัติดังนี้

     3.1 เวลาติดต่อสื่อสารหรือพูดคุยกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ควรสบตามองหน้า ใกล้ชิดพอสมควร ผู้ป่วยจะรู้สึกอบอุ่นมากขึ้น ให้ความรู้สึกว่าเราสนใจผู้ป่วยอยู่
     3.2 อาจใช้เครื่องบางอย่างช่วยในการติดต่อสื่อสารเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์
     3.3 พยายามสงบ ตั้งใจ สนใจ เวลาติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยและตั้งใจฟังเวลาผู้ป่วยติดต่อสื่อสารกับเรา เพื่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง
     3.4 เวลาพูด พูดให้ช้า ชัด ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเรื่องการได้ยิน จะได้มองปากและฟังตามได้ทัน
     3.5 อย่าเร่งรีบเวลาพูดคุยหรือติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยจะคิดว่าไม่อยากคุยกับเขา อาจน้อยใจ เสียใจ เกิดปัญหาอารมณ์ตามมาหรือบางครั้งผู้ป่วยอาจตามไม่ทัน ฟังไม่เข้าใจ ถ้าพูดเร็วหรือเร่งรีบเกินไป
     3.6 กิริยา ท่าที ในการติดต่อสื่อสารมีความสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยจะสังเกตการแสดงออกไปด้วย อาจแปรการแสดงออกที่ไม่เต็มใจ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี
     3.7 พยายามเรียกชื่อผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิด ความรู้สึกที่ดีให้เกียรติ รวมทั้งเตือนความจำของผู้ป่วยเองด้วย
     3.8 เวลาพูด ควรพูดสั้นๆ ง่ายๆ ใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนจนเกินไป
     3.9 อย่าวิจารณ์ผู้ป่วยต่อหน้าผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ผู้ป่วยจำอะไรไม่ได้ อย่าย้ำหรือทำให้ผู้ป่วยได้อาย
     3.10 ต้องอดทนในการติดต่อสื่อสาร อาจต้องพูดหรือแสดงออกหลายๆครั้ง เพราะผู้ป่วยอาจมีความบกพร่องในการรับรู้และความเข้าใจ
     3.11 พยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้แสดงท่าทาง ความรู้สึกแท้จริงออกมา เพื่อให้เกิดความกระจ่างในความรู้สึกของผู้ป่วย จะได้ตอบสนองได้ถูกต้อง
     3.12 พยายามพูดคุยในเรื่องอดีต ลำดับขั้นตอนที่ผู้ป่วยคุ้นเคยมาสู่ปัจจุบัน เช่น เรื่องลูกๆแต่ละคน เรื่องเพื่อนฝูงของผู้ป่วย การงานที่เคยทำ เป็นต้น
     3.13 อย่าพยายามถามคำถามที่รู้ว่าผู้ป่วยตอบไม่ได้แน่ๆ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกเรื่องความจำและสติปัญญาบกพร่อง ยิ่งคิดมากและวิตกกังวล
     3.14 อย่าล้อผู้ป่วยต่อหน้าผู้อื่น
     3.15 ใช้ชื่อ สัญลักษณ์ เพื่อช่วยความจำของผู้ป่วย
     3.16 ไม่ควรต่อว่า โต้เถียง ขึ้นเสียงหรือกล่าวหาผู้ป่วยในเรื่องต่างๆ
     3.17 อย่าทำโทษผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยจะเกิดความรู้สึกผิดหรือความรู้สึกที่ไม่ดีนำไปสู่อาการทางจิตได้

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand