นวัตกรรมอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ป้องกันแผลกดทับ เสริมคุณภาพชีวิต
การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับตัวหรือช่วยเหลือตัวเองได้ ถือเป็นงานที่ยากลำบากสำหรับผู้ดูแลเป็นอย่างมาก แต่ด้วยหน้าที่แล้วคงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ นอกจากนี้ตัวผู้ป่วยเองก็คงไม่อยากนอนนิ่ง ๆ มองดูเพดานอยู่เช่นนั้นไปตลอด ที่สำคัญเมื่อนอนนาน ๆ โดยไม่ลุกไปไหนก็อาจก่อให้เกิดโรคแผลกดทับซึ่งยากแก่การรักษาได้ ด้วยสาเหตุและความจำเป็นดังกล่าวจึงได้ก่อเกิด นวัต กรรมเพื่อยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและเตียงป้องกันโรคแผลกดทับขึ้น
โดย พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี ผู้อำนวยการกองเวช ศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระ มงกุฎเกล้า ได้ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวว่า โรคแผลกดทับ สามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกายที่มีการนอนกดทับ โดยเฉพาะที่บริเวณก้น ซึ่งผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคแผลกดทับ ได้แก่ ผู้พิการเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต ผู้ที่ไม่สามารถขยับตัวหรือช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ประสบอุบัติเหตุทางสมองหรือได้รับบาดเจ็บกระดูกหักต้องนอนอยู่ในท่าเดียวนาน ๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี จึงทำให้บริเวณที่มีการกดทับเลือดไม่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่งผลให้เนื้อเยื่อตาย ยิ่งถ้าเป็นบริเวณก้นจะมีปัสสาวะและอุจจาระไหลไปสะสมอยู่ด้วยยิ่งทำให้เกิดความเปียกชื้น ถ้าไม่มีการทำความสะอาดที่ดีจะส่งผลให้มีการติดเชื้อได้
หากเป็นแผลกดทับแล้วการรักษาค่อนข้างยาก โดยจะต้องดูจากสภาพร่างกายผู้ป่วยว่าต้อง การสารอาหารใด เพราะอาหารทำ ให้มีการสร้างเนื้อเยื่อ เช่น โปรตีนสูง วิตามินเพียงพอ ซึ่งต้องมีการตรวจเม็ดเลือดก่อนด้วยว่าต้องไม่เป็นภาวะโลหิตจางเพื่อนำสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายได้หรือเลือดมีการไหลเวียนดีหรือไม่ และเวลาผู้ป่วยปัสสาวะ-อุจจาระมีการทำ ความสะอาดอย่างไรไม่ให้เกิดความเปียกชื้น เพราะหากมีการติดเชื้อจะเป็นแผลลึกเข้าไปถึงกล้ามเนื้อ และกระดูกก็จะยิ่งทำให้การรักษายากขึ้น ขณะเดียวกันการพลิกตัวผู้ป่วยก็มีส่วนในการช่วยรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของคนไข้แต่ละราย โดยค่าเฉลี่ยควรพลิกตัวเปลี่ยนท่าให้ผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง แต่ส่วนมากผู้ดูแลไม่สามารถทำได้
ดังนั้นการป้องกันการเกิดแผลกดทับย่อมดีกว่าการรักษา โดย ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้คิดค้นนวัตกรรมในการช่วยเหลือผู้ป่วย กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ประกอบกับการเรียนด้านหุ่นยนต์ พบว่าการใช้เครื่องมือควบคุมหุ่นยนต์สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ หลักการจะใช้ตัวคอนโทรลของหุ่นยนต์มีอยู่ 3 ตัว คือ ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ พีแอลซี และไมโครคอนโทรลเลอร์ ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้จะแยกชนิดไปควบคุมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ทำให้เชื่อมั่นว่าสามารถนำองค์ความรู้ช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้การทำงานต้องปรึกษาแพทย์ด้วย เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องแพทย์ เมื่อมีการทำงานร่วมกันก็ทำให้งานเดินไปได้ด้วยดี
นวัตกรรมแรกที่เราพัฒนาช่วยเหลือผู้ป่วย คือ “ชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” ควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ ซึ่งเครื่องนี้นอกจากจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง รูมาตอยส์ พาร์กินสัน ข้อเสื่อม และโรคชรา ซึ่งเป็นโรคที่ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านให้เคลื่อน ไหวร่างกายป้องกันการเกิดโรคแผลกดทับและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังสามารถช่วยลดการนำเข้าที่มีราคาสูงมาก โดยสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีกำลังทุนทรัพย์น้อย เพราะอุปกรณ์แพทย์บางตัวที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงมากถึง 500,000 บาท ในขณะที่อุปกรณ์ที่เราคิดค้นขึ้นมามีราคาเพียง 45,000-50,000 บาท แต่ระบบการทำงานเหมือนกันทุกอย่าง
ลักษณะตัวชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรกเป็นเสาเหล็กมีกระเช้าห้อย ความสูงประมาณ 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ซึ่งกระเช้าเป็นผ้าที่ให้ผู้ป่วยนั่ง โดยมีตะขอเกี่ยวที่มุม 4 มุมของผ้า เมื่อกดรีโมตเครื่องจะค่อย ๆ ยกตัวผู้ป่วยขึ้นพร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากเตียง เช่น พาออกไปนั่งเล่น อาบน้ำ ซึ่งผู้ป่วยประเภทที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้หากที่โรงพยาบาลไม่มีเครื่องตัวนี้ช่วยก็จะต้องใช้ผู้ดูแลยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยถึง 3 คน ยิ่งหากอยู่ที่บ้านเราต้องดูแลบุคคลเหล่านั้น ถ้าไม่มีผู้ช่วยดูแลคงไม่สามารถยกตัวผู้ป่วยไปอาบน้ำทุกวัน เป็นปี ๆ ได้ ฉะนั้นอุปกรณ์ตัวนี้จะช่วยได้มาก ที่สำคัญเราคิดว่าผู้ป่วยที่นอนมองแต่เพดานอย่างเดียวอยู่บนเตียง หากได้ลุกขึ้นมานั่งดูโทรทัศน์ เคลื่อน ไหวออกจากเตียงได้บ้างถือว่าเป็นความสุขที่ผู้ป่วยต้องการ
ต่อมาเป็น ชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบ 3 แกน ควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ ใช้สำหรับขับถ่าย เป็นเครื่องที่มีขนาดใหญ่ใช้พื้นที่มาก ลักษณะเป็นเสา 4 เสา มีล้อเลื่อน เวลาใช้ก็เข็นเข้าไปคร่อมที่เตียง และมีตัวยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยใช้แกน 3 แกน คือ แกนเอ็กซ์ วาย และแซด เครื่องนี้มีอยู่ตัวเดียวในประเทศ ไทยใช้งานอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปกติการยกผู้ป่วยไปขับถ่ายใช้คนประมาณ 2-3 คน เมื่อใช้เครื่องนี้จะเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับผู้ดูแล ในอนาคตจะพัฒนาชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนี้ให้สามารถชั่งน้ำหนักตัวผู้ป่วยได้ด้วย สาเหตุที่ต้องพัฒนาเพราะผู้ป่วยที่นอนอยู่เฉย ๆ ต้องมีการชั่งน้ำหนักตัววันต่อวันเพื่อแพทย์จะได้นำไปวิเคราะห์ต่อ ซึ่งเครื่องที่เราจะพัฒนานี้ผู้ป่วยจะนอนเฉย ๆ และใช้ตัวยกซึ่งจะมีจอแอลซีดีระบุว่าน้ำหนักกี่กิโลกรัม ทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปเพื่อชั่งน้ำหนักหรือวัดความดันจุดอื่น ซึ่งบางโรงพยาบาลจุดชั่งน้ำหนักไม่ได้อยู่ชั้นเดียวกันกับที่ผู้ป่วยพัก ที่สำคัญช่วยป้องกันโรคแผลกดทับได้ด้วย เพราะผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวตลอด
สำหรับ “เตียงป้องกันแผลกดทับ” ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญที่เราสามารถคิดค้นประดิษฐ์ได้และรอจดสิทธิบัตรอยู่ โดยเตียงนี้จะมีอุปกรณ์ไฮดรอลิกเป็นซี่ ๆ เหมือนฟันปลาอยู่ด้านในเตียง เมื่อผู้ป่วยนอนก็ตั้งปรับเป็นเลขคู่และเลขคี่สลับกันขึ้นลงครั้งละ 5- 10 นาที จึงทำให้ผู้ป่วยได้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ป้องกันโรคแผลกดทับและทุ่นแรงผู้ดูแลเป็นอย่างมาก เพราะไม่เช่นนั้นต้องคอยพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงถือเป็นงานที่หนักพอสมควร อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตจะต้องมีการพลิกตัวด้วย ในอนาคตจึงจะพัฒนาเตียงให้มีการเอียงซ้าย–ขวาได้ด้วย และ “รถเข็นคนพิการระบบไฟฟ้าแบบปรับยืน” ควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลุกยืนเองได้เพื่อออกกำลังกายหรือหยิบของ โดยการกดปุ่มบังคับถือเป็นนวัต กรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่เป็นอันตราย เพราะเวลาเครื่องปรับให้ผู้ป่วยลุกยืนจะมีชุดอุปกรณ์รัดลำตัวและขาเอาไว้ด้วยเพื่อความปลอดภัย
นวัตกรรมทั้งหมดสามารถช่วยยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างสะดวกสบายอีกทั้งราคาก็ไม่แพง หากผู้ป่วยและผู้ดูแลสนใจสามารถปรึกษาแพทย์ก่อนนำไปใช้ เพราะผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามเราพยายามคิดค้นและประดิษฐ์เพื่อให้ได้งานวิจัยที่มีราคาถูกลงและมีคุณภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ ฉะนั้นการพัฒนาจึงไม่ได้หยุดยั้ง หากหน่วยงานไหนต้องการให้เราวิจัยและมีทุนสนับสนุนให้ก็ยินดีส่งเสริมเพื่อพัฒนาช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป เพราะท้ายที่สุดแล้วถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีก็จะทำให้สุขภาพจิตและร่างกายแข็งแรงดีขึ้นตามไปด้วย.