เฝือกกระดาษราชวิถี นวัตกรรมใหม่ฝีมือแพทย์ไทย
เฝือกกระดาษราชวิถีนวัตกรรมทางการแพทย์ นำไปใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยกระดูกแขนขาหัก ผลงานชิ้นเอกกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี จับมือปูนซีเมนต์ไทยศึกษาวิจัยและพัฒนา ลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โรงพยาบาลราชวิถี นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบเฝือกกระดาษราชวิถี ( Rajavithi Splint ) ว่า เฝือกกระดาษราชวิถี นับเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่พัฒนาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บกระดูกแขนและขาหัก
เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิดหลัก คือ เฝือกลมและเฝือกไม้ ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้งาน
โดยเฝือกกระดาษทำจากกระดาษลูกฟูกและมีคุณสมบัติพิเศษ ได้แก่ เป็นการใช้งานครั้งเดียวแล้วทิ้ง ช่วยขจัดปัญหาการทำความสะอาดและการติดเชื้อของบุคลากร มีวิธีการใช้งานที่สะดวกและรวดเร็ว สามารถปรับให้มีรูปร่างตามสรีระของผู้บาดเจ็บและลักษณะการบาดเจ็บ น้ำหนักเบาไม่เปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บ ไม่มีอุปสรรคต่อการเข้าเครื่องฉายรังสี สามารถใช้ดามอวัยวะที่บาดเจ็บไม่ให้เคลื่อนเพื่อลดการบาดเจ็บซ้ำเติม นอกจากนี้ ยังลดการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ และมีราคาถูกเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ดามที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ ที่มีใช้อยู่
ทั้งนี้การวิจัยและพัฒนาเฝือกกระดาษดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี โดยนายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา และคณะ กับบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด และมูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย โดยได้ทำการวิจัยตั้งแต่ ปี 2549 และในวันนี้บริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด และมูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย ได้มอบเฝือกกระดาษราชวิถี จำนวน 1,800 ชุด ประกอบด้วยเฝือกแขนและเฝือกขา ให้แก่โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อนำไปมอบแก่สถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยจะได้มีการวิเคราะห์และประเมินผล การใช้ประโยชน์จากเฝือกกระดาษราชวิถี เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป