‘ไม้เท้า’ มหัศจรรย์ ความหวังผู้ป่วย ’พาร์กินสัน’!

ปัญหาของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน นอกจากอาการมือสั่นแล้ว ที่สำคัญคือ เรื่องของการเดินติดขัด ก้าวขาไม่ออกแม้ใจจะอยากก้าวเดินก็ตาม
นับ เป็นข่าวดีที่ปัจจุบัน “ศูนย์รักษาโรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ค้นพบวิธีช่วยผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นคือ การใช้ “ไม่เท้าพาร์กินสันพระราชทาน” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยลงทะเบียนเข้ารับไม้เท้าได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้น เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ไม้เท้าพาร์กินสันพระราชทานมีด้วยกัน ๒ ชนิด ได้แก่ ไม้เท้าชนิดใช้แสงเลเซอร์ และไม้เท้าชนิดขวางกั้น (เป็นรูปตัว L) โดยลักษณะของไม้เท้าเหมือนกับไม้เท้าทั่วไปทำด้วยอะลูมิเนียม แต่ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมเป็นพิเศษ
กล่าวคือ ถ้าเป็น “ไม้เท้าชนิดเลเซอร์” ที่หัวไม้เท้าด้านหลังจะมีสวิตซ์สีแดงสำหรับปิด/เปิด เมื่อเปิดสวิตซ์และกดน้ำหนักลงที่ปลายไม้เท้า ตัวเซ็นเซอร์ที่ฝังอยู่ภายในด้ามไม้เท้าจะทำงาน ปรากฏเป็นแสงเลเซอร์จากหัวไม้เท้าลงมาที่พื้นลักษณะเป็นเส้นสีเขียวกีดขวาง ที่ด้านหน้าของผู้ถือ (ไม้เท้า) เพื่อให้ก้าวข้ามเส้นแสงที่ปรากฏ เมื่อไม่ใช้งานให้ปิดสวิตซ์สามารถใช้งานไม้เท้านั้นได้เหมือนไม้เท้าทั่วไป
ส่วน “ไม้เท้าชนิดขวางกั้น” นั้นผู้ป่วยจะต้องปรับที่ปลายไม้ให้ส่วนขวางกั้นยื่นออกมาจากตัวไม้ทำ หน้าที่เช่นเดียวกับแสงเลเซอร์ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อยๆ
รศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์รักษาโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของโรคการวิจัยทดลองไม้เท้าพาร์กินสันพระราชทานว่า เริ่มต้นเมื่อราว ๓ ปีก่อน จากการสังเกตอาการของผู้ป่วยพาร์กินสันพบว่าอาการเดินติดขัดก้าวขาไม่ออก ทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานมากเพราะทั้งๆ ที่ใจอยากเดินแต่ไม่สามารถสั่งการขาให้ก้าวขาออกได้
กระทั้งวันหนึ่ง เกิดความคิดขึ้นเมื่อเห็นผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินติดขัดหาวิธีแก้ไขการเดิน ด้วยตนเองบาง คนใช้หนังสือพิมพ์ทำเป็นก้อนผูกกับเชือก โดยทิ้งสายยาว เมื่อการจะเดินจะโยนหนังสือพิมพ์นั้นไปด้านหน้าแล้วบังคับตนเองให้ก้าวข้าม ปรากฏว่าสามารถก้าวข้ามได้ อีกครั้งได้เห็นคนไข้ที่เดินติดขัด มีไม้เท้า ๒ อัน อันหนึ่งใช้เหมือนไม้เท้าปกติอีกอันจะใช้วางกับพื้นสำหรับก้าวข้าม ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้ก็สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้
“ตอน แรกที่ทำการทดลอง ได้ทดลองกับคนไข้ที่ใช้วอล์กเกอร์เดิน โดยขึงเชือกสีแดงไว้ที่ด้านล่างของวอล์กเกอร์ และบอกคนไข้ว่าเวลาที่จะเดินให้ก้าวขาไปแตะที่เชือกสีแดงก่อน และพบว่าด้วยวิธีนี้คนไข้สามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้ต่อไปเรื่อยๆ”
นี้ เองเป็นที่มาของโครงการวิจัย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนักเรียนปริญญาโทมาช่วยในการผลิต จากไม้เท้าเวอร์ชั่นแรกที่ค่อน ข้างเทอะทะมีกล่องเลเซอร์ติดข้างไม้เท้า ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ โดยอาศัยเสียงสะท้อนจากผู้ป่วยที่ทดลองใช้ที่สุดได้ออกมาเป็นไม้เท้าทั้งสอง ชนิดนี้ โดยมี รศ.ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์ และ รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ช่วยในการออกแบบ
“เนื่อง จากปีนี้เป็นปีรณรงค์โรคพาร์กินสัน ๒๕๕๓ ที่ทางสภากาชาดไทยทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีซึ่งเป็นอุปนายิกาสภากาชาดไทย จึงขอพระราชทานชื่อไม้เท้า ซึ่งคือ ‘ไม้เท้าพาร์กินสันพระราชทาน’ โดยการผลิตในช่วงแรกใช้ทุนวิจัยและได้รับบริจาคจากผู้ป่วยและผู้มีจิตศรัทธา สนับสนุน ค่าวัสดุเบื้องต้น”
ทำไมแค่มีสิ่งขวางกั้นด้านหน้าสามารถ กระตุ้นให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน ที่มีอาการเดินติดขัดสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้? รศ.นพ.รุ่งโรจน์ ซึ่งทำงานกับผู้ป่วยพาร์กินสันมากกว่า ๑๐ ปี อธิบายว่า “อาการก้าวเดินติดขัด ก้าวขาไม่ออก เป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะสำหรับคนไข้โรคพาร์กินสัน โดยเชื่อว่าเกิดจากประสาทสั่งการของ ‘สมองส่วนหน้า’ มีปัญหา
สมองส่วน หน้ามีหน้าที่หลายอย่าง นอกจากสั่งการในเรื่องการวางแผนตัดสินใจทำในสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อีกประการหนึ่งคือ การเป็นศูนย์ควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เช่นการเดิน ฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นที่สมองส่วนหน้าจึงเป็นผลให้ ความต่อเนื่องของการเดินขาดหายไป ตัวกระตุ้นนี้ก็เหมือนกับเป็นสิ่งที่มาช่วยต่อวงจรที่ติดขัดให้ต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ทำให้หายขาด”
สำหรับโรคพาร์กินสันหรือที่เมื่อก่อนเรียกกันว่า “สันนิบาตลูกนก” นั้น รศ.ดร.รุ่งโรจน์บอกว่า จากการค้นข้อมูลพบว่ามีการบรรยายถึงโรคนี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๐ หรือร่วม ๒๐๐ ปีก่อน แต่เพิ่งมรการรักษาเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๙
ในเมืองไทยเมื่อก่อนถ้าเห็น คนสูงอายุมือไม้สั่น มักจะบอกกันว่าเป็นเพราะแก่ ฉะนั้นคนไข้พาร์กินสันในเมืองไทยจะถูกวินิจฉัยค่อนข้างช้า บางรายอาจจะไม่ถูกวินิจฉัยเลย แต่ช่วงหลังๆ เนื่องจากคนเรารู้เรื่องโรคมากขึ้น มีการรักษามากขึ้น ฉะนั้นคนจึงได้รับการรักษาเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยพาร์กินสันในเมืองไทยยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน เนื่องจากยังไม่เคยมีใครศึกษาตัวเลขของผู้ป่วยทั้งประเทศ ศูนย์พาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาฯ จึงทำโครงการชวนเชิญให้ผู้ป่วยมาลงทะเบียน ซึ่งตอนนี้ได้ตัวเลขประมาณ ๓๒,๐๐๐ แต่ตัวเลขคาดการณ์น่าจะอยู่ที่ ๘๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ราย
รศ.ดร.รุ่งโรจน์บอกอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์กินสันนั้น ปัจจุบันแม้จะไม่มีการวินิจฉัยก่อนจะมีอาการ แต่ที่ได้รับการยืนยันคือ ๒ ปัจจัย คือ ๑.ผู้ที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี ๒.ผู้ที่มีประวัติว่าสมาชิกในครอบครัวมีผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันก่อนอายุ ๔๐ ปี
ส่วนวิธีการรักษานั้นมีทั้งการผ่าตัดใช้ไฟฟ้ากระตุ้นการทำงานของสมอง ส่วน หน้า การจี้ด้วยไฟฟ้า และการกินยา กระนั้นคุณหมอรุ่งโรจน์ก็ยืนยันว่า “ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหรือการทานยาก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาด แต่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น และทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น ปัจจุบันผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอจะมีอายุเฉลี่ยเท่ากับคนทั่ว ไป ในปีรณรงค์เราถึงเน้นการรักษา เพราะยิ่งรู้ตัวว่าเป็นเร็วเท่าไรยิ่งดีต่อการรักษาเท่านั้น”
วิธีที่คุณ หมอเน้นกับคนไข้เสมอคือ การทำกายภาพบำบัด เพราะปัจจุบันเราเชื่อว่าการทำกายภาพบำบัดหรือการออกกำลังกายช่วยชะลอโรค พาร์กินสันได้ โดยมีงานวิจัยยืนยันแล้วว่า คนออกกำลังกายเป็นโรคพาร์กินสันน้อยกว่าคนไม่ออกกำลังกาย
ฉะนั้นสมองเรา ยิ่งใช้ยิ่งเป็น (พาร์กินสัน) น้อยลง “ถ้าไม่อยากเป็นโรคของการเคลื่อนไหว ก็ต้องเคลื่อนไหวมากๆ ด้วยการออกกำลังกาย ถ้าไม่อยากเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็ต้องใช้สมองเยอะๆ ในเรื่องของความจำ”
ผมมักจะเตือนคนไข้เป็นประจำว่า “ไม้เท้าอันนี้เป็นแค่เสริม ไม่ใช่ทดแทน” ยังต้องกินยา ทำกายภาพ เดินต้องระวังเหมือนเดิม เพราะถ้าเขาใช้ไม่ถูกต้องมีโอกาสที่จะหกล้มและเป็นอันตรายกับตัวเองเหมือน เดิม “ไม้เท้าพาร์กินสันพระราชทาน” ไม่ได้ช่วยรักษา แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น


(มติชนรายวัน/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๒๕ ม.ค.๒๕๕๔)

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand