กระจกตาติดเชื้อ
กระจกตาคือส่วนไหนของลูกตา กระจกตา (cornea) หรือ เรียกว่า ตาดำ เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของลูกตา มีลักษณะเป็นวงกลมใส มองเห็นทะลุไปถึงสีของม่านตาด้านหลัง กระจกตาเป็นส่วนที่สำคัญมากกับการมองเห็น เนื่องจากคุณสมบัติที่มีความใส ความโค้งที่พอเหมาะและผิวหน้าที่เรียบลื่น ดังนั้นทำให้แสงที่ส่องมากระทบดวงตาสามารถผ่านเข้าไปในดวงตาและโฟกัสรวมให้ เกิดภาพที่ชัดเจนได้ โรคใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับกระจกตามีผลทำให้กระจกตาผิดรูปร่างไป ก็จะมีผลทำให้เจ้าของดวงตานั้นมีการมองเห็นที่เลือนรางลงได้
ความสำคัญโรคกระจกตาติดเชื้อ
โรคกระจกตาติดเชื้อเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะตาบอดเนื่องจากเมื่อเกิดการติด เชื้อขึ้น ภาวะการอักเสบจะนำไปสู่การเกิดแผลเป็นของกระจกตา เมื่อหายจากโรคโดยแผลเป็นนี้จะทำให้กระจกตาขุ่นขาวผิดรูปร่างไปจากเดิม ทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาไม่ได้ดี ในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศอินเดีย พบผู้ป่วยโรคกระจกตาติดเชื้อได้มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัอเมริกาถึง 10 เท่า ในประเทศไทยนั้น 4.5% ของภาวะตาบอดทั้งหมดมีสาเหตุมาจากโรคของกระจกตา ซึ่งเกิดตามหลังกระจกตาติดเชื้อนั้นเอง
|
เกิดการติดเชื้อกับกระจกตาได้อย่างไร
ธรรมชาติได้สร้างให้มีการคุ้มกันของกระจกตาอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะผิวหน้าสุดของกระจกตาและน้ำตานั้นทำหน้าที่เหมือนเกราะที่แข็งแกร่ง คอยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปทำให้เกิดโรคกับกระจกชั้นในได้ ในน้ำตามีเอ็นไซม์ และสารภูมิคุ้มกันคอยดักจับ และทำลายเชื้อโรคการที่เรามีรีเฟล็กซ์กะพริบตาเมื่อมีอะไรจะเข้าตา หรือรีเฟล็กซ์น้ำตาไหลออกมากมาล้างตาเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าในตา ผิวกระจกตาเองที่เป็นเซลล์เรียงตัวกันแน่นก็แทบไม่มีที่ให้เชื้อโรคเข้ามา เกาะ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะต่างๆที่ทำให้เกราะนี้เสียไปได้แก่การใส่คอนแทคเลนส์ กระจกตาถลอกขูดขีดจากอุบัติเหตุต่างๆ การใช้ยาหยอดตาที่ปนเปื้อนหรือมีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา โรคที่เกิดกับดวงตาบางโรค เช่น โรคตาแห้ง โรคของเปลือกตาที่ทำให้ปิดตาไม่สนิท โรคทางกายที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทั้งร่างกายบกพร่องลง เป็นต้น ภาวะดังกล่าวมีผลให้เกิดการติดเชื้อขึ้นกับกระจกตาได้ง่ายขึ้น ในบรรดาสาเหตุทั้งหมดพบว่าการเกิดกระจกตาถลอกขูดขีดและการใส่คอนแทคเลนส์ เป็นประจำเป็นสาเหตุที่เกิดโรคได้มากที่สุด และเชื้อที่เป็นสาเหตุมากที่สุด ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย รองลงมาได้แก่เชื้อราและเชื้อไวรัสตามลำดับ
|
โรคนี้จะสังเกตได้อย่างไร มีอาการและอาการแสดงเป็นอย่างไร
หลังเกิดการติดเชื้อผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเคืองตาตาแดงมีน้ำตาไหล ลืมตาไม่ขึ้น มีขี้ตามาก ตามมาด้วยเริ่มสังเกตเห็นจุดขาวๆเกิดขึ้นตรงตาดำ จุดนี้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็จะขยายใหญ่ขึ้นพร้อมๆไปกับอาการตา มัวลง บางครั้งอาจเห็นเป็นระดับหนองสีขาวเป็นเส้นในแนวนอน อยู่ในช่องหน้าม่านตาได้ หากโรคลุกลามไปมากจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระจกตาทะลุ ภาวะต้อหิน ทำให้เกิดตาบอดอย่างถาวรได้
มีวิธีการรักษาอย่างไร
การรักษาที่ถูกต้องกระทำได้โดยจักษุแพทย์เท่านั้น โดยจักษุแพทย์จะวินิจฉัยโรคจากอาการและการตรวจพบ นอกนั้นจักษุแพทย์อาจขูดผิวของแผลไปเพื่อทำการย้อมสีและเพาะเชื้อ เพื่อบอกให้ได้ว่าเป็นเชื้อชนิดไหน การรักษาเริ่มโดยการใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตาให้ผู้ป่วย โดยหยอดถี่ทุก 1-2 ชั่วโมง ร่วมกับให้ยาลดปวด ในรายที่เป็นมากลุกลามเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจพิจารณารับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยซึ่งมีการติดเชื้อลุกลามไปมากหรือกระจกตากำลังจะทะลุ อาจจำเป็นต้องรับการผ่าเปลี่ยนกระจกตาฉุกเฉิน เพื่อเป็นการรักษาดวงตาเอาไว้ไม่ให้บอดอย่างถาวร ทั้งนี้การผ่าตัดก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปได้ทันเหตุการณ์ในทุกราย เนื่องจากการขาดแคลนดวงตาอย่างมากในประเทศไทย เมื่อสามารถควบคุมการติดเชื้อแล้ว กาอักเสบบนกระจกตาจะน้อยลง และกลายไปเป็นแผลเป็นสีขาวขุ่น และรูปร่างกระจกตาที่ผิดปกติไป มีผลทำให้การมองเห็นลดลงจำเป็นต้องรับการรักษาในระยะยาวคือ การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพื่อเอากระจกตาส่วนที่ผิดปกติออกไปและแทนที่ด้วย กระจกตาใสปกติจากผู้บริจาค ในเมืองไทยนั้นเนื่องจากภาวะการขาดแคลนกระจกตาจากผู้บริจาค ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเข้าคิวรอคอยกระจกตานานถึง 3-6 ปี
การป้องกัน
เมื่อเห็นแล้วว่าโรคกระจกตาติดเชื้อเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีความรุนแรงถึงขั้น สูญเสียการมองเห็นได้ สิ่งที่ดีที่สุดได้แก่การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นโดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่การใส่คอนแทคเลนส์ เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดโรคนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยเองก็พบได้จำนวนไม่น้อย เนื่องจากคอนแทคเลนส์เมื่อใส่จะเข้าไปอยู่ติดกับกระจกตา เมื่อผู้ใส่ไม่ได้ดูแลเรื่องการทำความสะอาดที่ดีพอ ใช้น้ำยาล้างแช่ไม่ถูกต้องก็จะทำให้มีเชื้อโรคเกาะติดกับเลนส์ มีโอกาสที่จะเข้าไปในกระจกตาโดยตรง นอกจากนั้นในขบวนการใส่ถอดเลนส์ ถ้าทำอย่างไม่ถูกวิธีจะมีโอกาสเกิดกระจกตาถลอกหรือขูดขีดทำให้เชื้อโรคฝัง เข้าไปในกระจกตาโดยตรงและทำให้เกิดโรคขึ้นได้
ดังนั้นผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ทุกคนควรได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์ว่ามีสภาวะ ดวงตาที่ปกติเหมาะกับการใส่เลนส์หรือไม่ ควรเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขอนามัยส่วนตัวดี สามารถดูแลรักษาความสะอาดของเลนส์ได้เป็นอย่างดี ใช้น้ำยาล้างทำความสะอาดที่เหมาะสม และเมื่อเกิดความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยขณะสวมเลนส์ เช่น ตาแดงระคายเคือง ไม่ควรนิ่งนอนใจให้รีบถอดเลนส์
|
และมาพบกับจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำที่ถูกต้องนี้สามารถลดโอกาสการตาบอดจากโรคกระจกตา ติดเชื้อได้ สาเหตุสำคัญรองลงมาที่สามารถป้องกันได้คือการเกิดอุบัติเหตุแผลถลอก ขูดขีดที่กระจกตา ดังนั้นควรดูแลป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ เช่น ชาวนาชาวสวนควรระวังการเกิดกระจกตาบาดเจ็บจากถูกกิ่งไม้ใบไม้ขูดตา ระวังไม่ขยี้ตาแรงๆ ผู้ที่ทำงานที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุกับตาได้ง่าย ควรสวมแว่นพลาสติคป้องกันดวงตาไว้เมื่อขับขี่ยานพาหนะควรสวมแว่น หมวกกันน็อคเพื่อกันไม่ให้มีแมลงหรือฝุ่นวิ่งเข้าตา เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อใดที่รู้สึกถึงความผิดปกติในตา ควรรีบพบแพทย์หรือจักษุแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
ฝ่ายจักษุวิทยา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย