ต้อหิน

ต้อหิน เป็นโรคตาที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุของตาบอดเป็นอันดับ สองรองจากต้อกระจก ต้อหินเป็นโรคที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตา อันเนื่องมาจากเซลล์ประสาทตาถูกทำลายส่งผลให้มีการสูญเสียลานสายตาที่สามารถ ตรวจพบได้ตามมา ถ้าไม่รักษาก็จะทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้ในที่สุด

 

     เดิมเชื่อกันว่าต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากความดันในลูกตาสูงปัจจุบันความ เข้าใจดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากพบว่าแท้ที่จริงมีปัจจัยอีกหลายๆ อย่างที่หนุนเนื่องทำให้เกิดโรคและสูญเสียเซลล์ประสาทตา กระนั้นความดันลูกตาก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวหลักที่ทำให้โรคเป็นมากขึ้น เรื่อยๆ การลดความดันลูกตาจะสามารถหยุดยั้งการดำเนินโรคและยับยั้งภาวะการสูญเสีย สายตาได้ แม้แต่ในภาวะต้อหินที่ความดันลูกตาไม่สูง

ความดันลูกตามาจากไหน
     ภายในลูกตาของคนเรา จะมีการสร้างของเหลวใสขึ้นมาภายในช่องหน้าของลูกตา ซึ่งจะมีการระบายออกไปมุมตา เป็นการปรับความดันภายในลูกตาให้สม่ำเสมอและทำให้ลูกตาคงรูปไว้ได้ กลไกที่ทำให้ความดันลูกตาสูงกว่าปกติมักจะเกิดมาจากการระบายออกของของเหลวใส นี้ผิดปกติ

ทำไมจึงเรียกโรคนี้ว่า “ต้อหิน”
     ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าความดันลูกตาที่สูงกว่าปกติเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญ โรคต้อหินส่วนมากมักมีความดันลูกตาสูงถ้าความดันลูกตาสูงมากๆ เมื่อเราใช้นิ้วคลำดูจะรับรู้ได้ว่าลูกตานั้นแข็งกว่าปกติ จนมีบางคนเปรียบเทียบว่าแข็งเหมือนหิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคดังกล่าว ไม่ใช่เพราะมีก้อนที่คล้ายหินอยู่ในลูกตาของผู้ป่วยดังที่มีหลายท่านเข้าใจ กัน

ต้อหินมีกี่ชนิด
โดยทั่วๆ ไปแบ่งคร่าวๆ ได้ 2 ชนิดคือ
     1. ต้อหินมุมเปิด
     2. ต้อหินมุมปิด

     ต้อหินมุมเปิด คือ ต้อหินที่มุมตาเปิด (ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจโดยจักษุแพทย์) แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพและชีวเคมีบางอย่าง ที่ทำให้มุมตาไม่สามารถระบายของเหลวออกจากช่องหน้าลูกตาได้ตามปกติความดัน ลูกตาจึงค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นภาวะต้อหินที่ความดันลูกตาไม่สูง เป็นหนึ่งในกลุ่มต้อหินมุมเปิด แต่เชื่อว่ามีความผิดปกติหรือปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ ทำให้เซลล์ประสาทตาไวต่อการสูญเสีย แม้ว่าความดันลูกตาจะสูงไม่มาก
     ต้อหินมุมปิด
คือ ต้อหินที่มีมุมตาปิด ส่วนมากสืบเนื่องจากผู้ป่วยมีโครงสร้างทางกายภาพของลูกตาที่มีแนวโน้มจะเกิด ภาวะนี้อยู่แล้ว พบได้บ่อยในชาวเอเชียมากกว่าชาวตะวันตกหรือผิวดำโดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อสาย จีน หรือมีโรคตาบางอย่างที่เป็นสาเหตุทำให้มุมตาปิด ของเหลวในช่องหน้าลูกตาระบายออกไม่ได้ ความดันจึงสูงขึ้น

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีอาการของต้อหินแล้ว
     ในกรณีที่เกิดต้อหินเฉียบพลัน โดยเฉพาะในกรณีต้อหินมุมปิดเฉียบพลันนั้น ความดันลูกตามักจะสูงขึ้นมากในระยะเวลาไม่นาน ทำให้เกิดอาการปวดตาหรือภายในกระบอกตาอย่างมากจนบางครั้งร้าวไปทั้งศีรษะ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ตาข้างที่เป็นจะแดงสู้แสงไม่ค่อยได้ น้ำตาไหล ตามัวลงอย่างมาก เป็นสัญญาณที่เตือนว่าควรจะต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยและรับการรักษา แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว เนื่องจากโรคค่อยเป็นค่อยไป เมื่อสังเกตได้ว่าตามัวลงและมาพบแพทย์ก็ตรวจพบว่าโรคดำเนินไปมากแล้ว เช่นนี้การเฝ้าระวังตัวเองมีความสำคัญมาก

ผลของต้อหินต่อการมองเห็นการเฝ้าระวังตัวเองคืออะไร
     ไม่ใช่คอยสังเกตว่าตัวท่านเองจะมีอาการของโรคเมื่อไรแต่เป็นการพิจารณาว่า ท่านเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นต้อหินด้วยหรือไม่ เพื่อจะได้รีบปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อตรวจว่าเป็นโรคหรือไม่ ซึ่งถ้าตรวจพบว่าเป็นหรือมีโอกาสสูงที่จะเป็นก็จะได้รับการรักษาเพื่อหยุด ยั้งการดำเนินโรค

ปัจจัยเสี่ยง
1. มีประวัติบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อ แม่ พี่น้องเป็นโรคนี้
2. อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
3. มีโรคที่มีผลต่อระบบหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือโรคที่ทำให้หลอดเลือดเล็กๆ อักเสบเรื้อรัง
4. เป็นโรคปวดหัวไมเกรน หรือมีภาวะปวดปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า อย่างรุนแรงเวลาโดนความเย็นเนื่องจากเส้นเลือดหดตัวไวต่อภาวะอุณหภูมิต่ำ
5. สูบบุหรี่เป็นประจำ
6. สายตาผิดปกติมากๆ เช่น สั้นมากๆ หรือยาวมากๆ (แต่ไม่ใช่ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ)
7. เคยได้รับอุบัติเหตุอย่างแรงที่กระทบต่อลูกตาโดยตรง
8. เคยมีประวัติเสียเลือดอย่างมากจนช็อค

เมื่อเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร
การรักษาโรคต้อหิน มีด้วยกันหลายวิธี คือ
1. รักษาด้วยยา ส่วนใหญ่เป็นยาหยอด การพิจารณาใช้ยาจักษุแพทย์อาจจะค่อยๆ เริ่มทีละขั้นดูการตอบสนองต่อการรักษาบางครั้งอาจจำเป็นต้องให้ยารับประทาน ร่วมด้วย ยารักษาต้อหินที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด การออกฤทธิ์ที่สำคัญคือการลดความดันลูกตา
2. รักษาด้วยแสงเลเซอร์ วิธีและชนิดของเลเซอร์ที่ใช้รักษาขึ้นกับชนิดของต้อหินที่เป็น เลเซอร์เป็นวิธีที่ง่ายใช้เวลาไม่นานสามารถให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้แต่ ผลการรักษาอาจไม่แน่นอนขึ้นกับชนิดของต้อหิน มักจะต้องใช้การรักษาด้วยยาควบคู่กันไปด้วย
3. รักษาด้วยการผ่าตัด มักจะทำก็ต่อเมื่อรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่ได้ผลแล้ว ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดขึ้นกับชนิดของต้อหินและความรุนแรงของโรครวมทั้งภาวะ ทางตาอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้อกระจก

จุดประสงค์ของการรักษาคืออะไร
     เพื่อหยุดยั้งการดำเนินโรค ป้องกันการสูญเสียสายตาและการมองเห็นอันเนื่องจากโรค กลไกหลักคือการลดความดันตาลงมาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่ทำลายขั้วประสาทตาและลานสายตาของผู้ป่วยแต่ละคน แต่ในบางครั้งโรคอาจจะเป็นมากหรือมีภาวะที่มีผลกระทบต่อประสาทตาอย่างอื่น ที่ทำให้การสูญเสียสายตายังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว

โรคต้อหินหายได้หรือไม่
     โรคต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อได้รับการตรวจพบว่าเป็นมักจะต้องมีการสูญเสียเซลล์ประสาทตาในระดับ หนึ่ง โดยทั่วไปเซลล์ประสาทเมื่อตายแล้วจะไม่ฟื้นตัวเองกลับมา การรักษาโรคต้อหินจึงเป็นการพยายามที่จะยังคงสภาพเซลล์ประสาทที่ดีส่วนที่ เหลือให้ยังคงอยู่ต่อไปให้มา และนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงต้องมาพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อติดตามการรักษาและประเมินสภาวะของโรคบ่อยบ้าง ห่างบ้าง ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าบางคราวผู้ป่วยอาจจะไม่ต้องใช้ยาแล้ว

จะดูแลผู้ป่วยต้อหินอย่างไร
     ถ้าผู้ป่วยสูญเสียลานตาไปมาก หรือมีการมองเห็นที่ลดลงมาแล้ว ญาติที่ใกล้ชิดอาจช่วยดูแลโดยการฝึกให้ผู้ป่วยใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นให้ มากขึ้น เช่น การคลำ การจัดวางข้าวของในบ้านให้เป็นระเบียบ มีแสงสว่างที่เพียงพอ จะช่วยลดปัญหาการเดินชนข้าวของและลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ ควรดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาหยอดตามเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ยาสามารถควบคุมความ ดันลูกตาได้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน การหยอดยาหรือรับยาไม่สม่ำเสมอ อาจทำให้ความดันลูกตาเปลี่ยนแปลงขึ้นสูงบ้างลดบ้าง ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการหยุดยั้งการดำเนินโรค ต้อหินเป็นโรคตาชนิดหนึ่งที่มักจะเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียลานตาและบอดได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา ความเข้าใจในธรรมชาติของโรค วิธีและจุดประสงค์ของการรักษาเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้โรคไม่ดำเนินต่อ และผู้ป่วยยังสามารถใช้สายตาได้ดี ทั้งนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตัวผู้ป่วยเอง ญาติใกล้ชิด และจักษุแพทย์ผู้ดูแลเพื่อทำให้โรคที่เรื้อรังและอันตรายเช่นนี้ส่งผลกระทบ ต่อผู้เป็นโรคน้อยที่สุด

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand