กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กรมการแพทย์
โรคมะเร็งกระดูก สามารถรักษาให้หายขาดได้หากเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก โดยจะทำการผ่าตัดนำเอากระดูกที่เป็นมะเร็งออกทั้งหมดและใส่กระดูกเทียมทดแทนในบริเวณดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยไม่มีความพิการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายแพทย์อนันต์ เสรฐภักดี รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์จึงได้จัดตั้งศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ มีหน้าที่ในการศึกษา วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และให้บริการเฉพาะทางสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับข้อและกระดูก
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า ในอดีตการรักษามะเร็งกระดูกด้วยวิธีการตัดอวัยวะเหนือส่วนที่เป็นมะเร็งออก ซึ่งผู้ป่วยยังคงมีอัตราการเสียชีวิตสูง ปัจจุบันได้นำวิธีให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัดทำให้การรักษาได้ผลเป็นที่พอใจ อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60-65 มะเร็งกระดูกแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1.มะเร็งกระดูกที่เกิดจากความผิดปกติภายในเซลล์ของเนื้อกระดูก พบได้ในเด็กวัยรุ่นช่วงอายุ 15 — 19 ปี หากตรวจพบในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ 2.มะเร็งกระดูกที่มีต้นกำเนิดจากอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด เต้านม ต่อมไทรอยด์ ต่อมลูกหมากแล้วกระจายไปสู่กระดูก ทางการแพทย์จัดว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40-50 ปีขึ้นไป ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูกอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ได้จัดทำโครงการ “Osteosarcoma Fast Track” เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกมากยิ่งขึ้น โดยการนำเข็มพิเศษมาใช้ในการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจร่วมกับการใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ในการหาตำแหน่งเนื้องอกได้ถูกต้อง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดสองครั้ง
นายแพทย์ปิยะ เกียรติเสวี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวด บวม หรือมีก้อนบริเวณที่เป็น ซึ่งอาจแยกได้ยากจากอาการปวดกล้ามเนื้อ หากอาการปวดไม่ดีขึ้นหรือมีอาการบวมมากขึ้นหลังจากได้รับการรักษาในเบื้องต้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือมีอาการปวดช่วงกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว ควรพบแพทย์อีกครั้งเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป สำหรับขั้นตอนการรักษามะเร็งกระดูกโดยเฉพาะมะเร็งกระดูกที่มีต้นกำเนิดจากกระดูกเอง วิธีการคือ แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดหลังจากนั้นจะทำการผ่าตัดและให้เคมีอีกครั้งหนึ่ง การผ่าตัดรักษามะเร็งกระดูกทำได้ 2 แบบ คือ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งกระดูกออกทั้งหมด รวมทั้งกล้ามเนื้อและกระดูกที่อยู่ใกล้ส่วนที่เป็นมะเร็งออก หลังการนั้นอาจใส่กระดูกทดแทนซึ่งนำมาจากบริเวณสะโพกของผู้ป่วย กระดูกเทียมหรือกระดูกที่ได้รับจากการบริจาค และการผ่าตัดอวัยวะเหนือส่วนแขนหรือขาที่เป็นมะเร็งออก ใช้ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดเก็บอวัยวะได้ เนื่องจากกระดูกบริจาคที่ใช้เป็นกระดูกทดแทนมีไม่เพียงพอ และโลหะที่ใช้ทำกระดูกเทียมมีราคาสูงทำให้ผู้ป่วยบางรายขาดโอกาส จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยบริจาคได้ที่ “กองทุนมะเร็งกระดูก” มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน โทร.0-2235-7337
ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมการแพทย์ 0 25818254 , กองทุนมะเร็งกระดูก มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน โทร.0-2235-7337