รักษาระดับ “เมลาโทนิน” ในร่างกาย ลดความเสี่ยง...โรคสมองเสื่อม!

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายที่เคยแข็งแรงก็จะเริ่มเกิดความเสื่อมขึ้น โดยปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุ ก็คือ “โรคสมองเสื่อม”

สังคมไทยกำลังย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากสถิติจำนวนประชากรผู้สูงอายุของสถาบัน วิจัยประชากรและสังคม มหา วิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยมีอายุเฉลี่ย 73 ปี จำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นทุก ๆ ปี โดยในปี 2554 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 7,790,000 คน และปี พ.ศ. 2555 มีจำนวน  8,111,000 คน ฉะนั้น เรื่องการดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเตรียมความพร้อมและให้ความ สำคัญ

ข้อมูลจากองค์การโรคอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ หรือเอดีไอ (Alzheimer’s Disease International : ADI) ปี พ.ศ. 2553 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมากกว่า 35 ล้านคน อยู่ในเอเชียอาคเนย์ 2.4 ล้านคน สำหรับผู้ป่วยในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจอย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาโดยอาศัยตัวเลขจากการศึกษาในต่างประเทศที่กล่าวมาข้างต้น และข้อมูลจากผลการสำรวจประชากรสูงอายุ ปี พ.ศ.2550 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า มีจำนวนประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 10.7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด 67 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะได้จำนวนประมาณของ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมทั้งประเทศราว 300,000 คน และที่สำคัญคือผู้ป่วยเหล่านี้ รวมทั้ง ญาติและบุคคลรอบข้างไม่ทราบว่าเป็นโรคสมองเสื่อม เนื่องจากสถิติผู้ที่เข้ารักษาที่สถาบันประสาทวิทยา ซึ่งเป็นศูนย์รักษาผู้ป่วยเฉพาะทางด้านหลอดเลือดสมอง พบว่า ผู้ป่วยสมองเสื่อมเข้ารักษาปีละ 1,500–2,000 คนเท่านั้น

จากข้อมูลงานวิจัยเรื่อง “กลไกของแอมเฟตามีนในการทำลายเซลล์ประสาทก่อให้เกิดโรคสมองเสื่อม” ของ ศ.ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เมลาโทนินมีบทบาทสำคัญในการกำจัดสารอนุมูลอิสระซึ่งมีส่วนในการก่อให้เกิด โรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน ซึ่งก็คือโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง

ศ.ดร.ปิยะรัตน์ ให้ความรู้เกี่ยวกับ เมลาโทนิน ว่า เป็นสารที่สร้างขึ้นจากต่อมไพเนียล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมอง เมื่ออยู่ในครรภ์ยังไม่มีต้องอาศัยของมารดา แต่เมื่อคลอดออกมาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะมีการสร้างเมลาโทนินขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุ 10-13 ปี จะเป็นระดับที่สูงที่สุด ซึ่งแต่ละคนก็จะมีระดับที่แตกต่างกัน รวมทั้งในแต่ละวันก็จะแตกต่างกันด้วย

ต่อมา ในวัยหนุ่มสาวระดับเมลาโทนินจะลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงวัยกลางคนจะเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะเหลือน้อยมาก ซึ่งสามารถตรวจวัดได้ในช่วงเวลากลางคืน เพราะเมลาโทนินจะผลิตออกมาตอนกลางคืนช่วงหลังเที่ยงคืนถึงประมาณตีสอง เท่านั้น

เมลาโทนินเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและระบบอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ความชรา หรือความจำ นอกจากนี้เมลาโทนินยังมีผลอื่น ๆ ต่อร่างกายอีกด้วย เช่น การนอนหลับ ระบบสืบพันธุ์ เซลล์มะเร็ง โดยเป็นสารที่ช่วยกำจัดสารอนุมูลอิสระที่มีผลให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ดี

จากงานวิจัยยังพบ ความสัมพันธ์ของเมลาโทนินกับโรคสมองเสื่อม ซึ่งรวมถึง โรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน ด้วย คือ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะพบระดับเมลาโทนินต่ำกว่าผู้สูงอายุในวัยเดียวกัน โดยเมลาโทนินในร่างกายนั้นจะเปรียบเสมือน นาฬิกาชีวภาพ หรือ นาฬิกาบอกเวลาของร่างกาย กล่าวคือ หากเวลามืดหรือตอนกลางคืน ต่อมไพเนียลจะถูกกระตุ้นให้มีการสร้างเมลาโทนินมาก ทำให้การควบคุมอุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลง อัตราการเต้นของหัวใจลดลง รวมถึงลดการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้ได้พักผ่อนมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ช่วงเช้าหรือเวลากลางวัน แสงแดดจะทำให้เมลาโทนินลดต่ำลง อุณหภูมิร่างกายก็จะเพิ่มขึ้น การทำงานของหัวใจและระบบต่าง ๆ ก็เพิ่มอัตราการทำงานมากขึ้น ฉะนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน จะไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติเพราะมีระดับเมลาโทนินต่ำ หากปล่อยไว้นานวันวงจรการหลับหรือตื่นจะยิ่งผิดปกติมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสมาธิ ความจดจำ การพูด การเคลื่อนไหว และอารมณ์โดยตรง

อีกทั้งยังพบว่าผู้ที่เสพสารแอมเฟตามีนจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคพาร์กินสันเมื่อ อายุมากขึ้น จากการทดสอบ ปรากฏว่า เมลาโทนินสามารถยับยั้งการเกิดพิษที่เกิดจากแอมเฟตามีนที่เป็นอาการของโรค พาร์กินสันได้ ฉะนั้น เมื่ออายุมากขึ้นต่อมไพเนียลจะสร้างเมลาโทนินน้อยลง เท่ากับว่า ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาทและความจำ จึงทำให้มีผู้สูงอายุจำนวนมากป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน

ศ.ดร.ปิยะรัตน์ กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุสามารถมีระดับเมลาโทนินที่สูงพอจะรักษาสุขภาพให้ดีได้ เนื่องจาก มีการสังเคราะห์เมลาโทนินโดยต่อมไพเนียลเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบ ประสาทของร่างกายอยู่แล้ว แต่ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม อาหาร และยา ก็มีผลเช่นกันโดย ยาบางชนิดมีผลต่อการลดระดับเมลาโทนิน เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด ยารักษาโรคความดันเลือดสูง ยากล่อมประสาท วิตามินบี 12 กาเฟอีน ยาสเตียรอยด์

ส่วนอาหารที่มีผลในการเพิ่มระดับเมลาโทนิน คือ อาหารที่มีเมลาโทนินสูง อาทิ สาหร่ายสไปรูลิน่า ถั่วเหลือง หรือถั่วต่าง ๆ ในเรื่องนี้มีข้อควรระวัง คือ วัยที่ยังไม่ใช่วัยชรา โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งร่างกายจะมีการสร้างเมลาโทนินสูงเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มระดับเมลาโทนินแต่อย่างใด เพราะหากมีระดับเมลาโทนินที่สูงเกินไป ก็อาจจะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ได้ในอนาคต.

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand