รับมือโรคหลงลืม...สมองเสื่อมก่อนจะสาย

โรคหนึ่งที่มักมากับอายุที่เพิ่มขึ้นก็คือ โรคสมองเสื่อม โดย พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร เปิดเผยว่า จากการวิจัยพบว่าอัตราการเกิดโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทยมีเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น จากร้อยละ 1 ในช่วงอายุ 60-64 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31 หรือเกือบ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 90 ปีขึ้นไป

    สำหรับการรับมือกับโรคสมองเสื่อมนั้น พญ.ดาวชมพูระบุว่า การหาความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทั้งลักษณะสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และรักษาโรคสมองเสื่อม สามารถที่จะนำไปสู่การดูแลตนเองตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อป้องกันภาวะเสื่อมของสมองหรือชะลอการเสื่อมได้ โดยอันดับแรกที่ควรรู้คือ รู้ว่าโรคนี้คืออะไร ซึ่ง พญ.ดาวชมพูอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า โรคสมองเสื่อมคือ ความเสื่อมของสมองที่ทำให้สมองมีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ซึ่งโดยทั่วไปสมองจะทำงาน 4 หน้าที่หลัก คือ จำ คิด พูด ทำ

    ในรายที่มีภาวะสมองเสื่อมจะสังเกตได้ว่าการทำงานของสมองด้านใดด้านหนึ่งใน 4 หน้าที่นี้ผิดปกติไป เช่น ความจำไม่ดี คิดไม่ต่อเนื่อง พูดซ้ำ ถามซ้ำหรือเรียกชื่อไม่ถูก และมีพฤติกรรมไม่หมาะสม โดยเฉพาะเรื่องความจำที่เป็นอาการหลักของโรคสมองเสื่อม เมื่อผิดปกติก็นำไปสู่ความบกพร่องของด้านอื่นๆ ด้วย จึงควรทำความเข้าใจปัญหานี้ก่อน เพราะปัญหาความจำ หรือการหลงลืม จริงๆ แล้วก็พบในคนปกติด้วย จึงควรแยกให้ได้ว่าลืมแบบไหนถึงจะคิดถึงโรคสมองเสื่อม

    สาเหตุที่ทำให้คนเราหลงลืม หลักๆ ก็จะมีอยู่ 2 อย่าง ถ้าจำง่ายๆ แยกคำออกมา 'หลง' คือขาดสติ หรือขาดความรู้ตัวไปชั่วขณะ ทำให้ไม่สามารถรับรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ จึงดูเหมือนความจำหายไป แต่สมองส่วนเก็บข้อมูลยังเป็นปกติ ส่วนคำว่า 'ลืม' นั้นคือความจำหายไป เพราะสมองส่วนที่เก็บข้อมูลทำงานบกพร่อง ซึ่งทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะลืมสิ่งที่เรียนรู้ช่วงเวลาหนึ่ง เช่น รับประทานอาหารแล้ว แต่พอถามอีกทีว่าทานข้าวหรือยังก็จำไม่ได้เลย หรือบางคนเป็นมากขนาดไปเที่ยวต่างประเทศมาหลายวัน พอกลับมาแล้วถามว่าไปไหนมาบ้างก็จำไม่ได้แล้ว แต่ในคนทั่วไปที่ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม อาจจะมีอาการหลงลืมชั่วคราวได้ เช่น วางของแล้วใจลอยคิดถึงเรื่องอื่น ก็จะทำให้จำไม่ได้ว่าวางของไว้ที่ไหน

    พญ.ดาวชมพูให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนความผิดปกติที่แสดงออกมาอื่นๆ ที่น่าห่วงคือ ในรายที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ “ผลของโรคสมองเสื่อมอาจจะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เดิมเป็นคนเรียบร้อยแต่ปัจจุบันขี้หงุดหงิด เสียงดัง โวยวาย ทำอะไรที่ต่างจากเดิมชัดเจน ที่พฤติกรรมเปลี่ยนอาจเกิดมาจากโรคทางด้านอารมณ์ที่แทรกซ้อน หรือเกิดจากสมองส่วนที่ควบคุมความคิด การกระทำให้เหมาะสม มีความยับยั้งชั่งใจเสียไป จนเกิดพฤติกรรมแปลกกว่าที่เคยทำ เช่นมีความก้าวร้าวและคุกคามผู้อื่นมากขึ้น ทำให้ญาติหรือผู้ดูแลหนักใจได้”

    สำหรับการเกิดโรคสมองเสื่อมนั้น พญ.ดาวชมพูให้ความรู้ว่า มีสาเหตุ 2 ประการ คือ สาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น การติดเชื้อโรคบางอย่าง ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนไทรอยด์ไม่สมดุล และขาดวิตามิน ซึ่งถ้าได้รับการตรวจรักษาก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้ สำหรับสาเหตุอีกประการนั้นแก้ไขไม่ได้ เนื่องจากความเสื่อมตามวัย หรือสมองมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถคืนกลับสภาพเดิม ซึ่งโรคที่พบบ่อย 2 อันดับแรก คือ โรคอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือดสมอง หรืออื่นๆ เช่น โรคสมองเสื่อมที่แทรกซ้อนจากโรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อมจากสมองส่วนหน้าและสมองด้านข้างฝ่อ เป็นต้น

    ส่วนการรักษาที่มักมีคนถามว่า เป็นแล้วจะหายหรือไม่นั้น พญ.ดาวชมพูระบุว่า หากตรวจพบเร็วและรีบรักษาก็จะช่วยชะลอความเสื่อมได้ ซึ่งวิธีรักษาก็ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความเสื่อม โดยอาจใช้ยาที่ชะลอการเสื่อมช่วย หรือใช้ยาเพื่อช่วยลดปัญหาพฤติกรรม แต่ที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น เช่น ควบคุมอาหาร ให้ระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันให้เป็นปกติ โดยเฉพาะรายที่เป็นโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังต้องมีการกระตุ้นสมอง ซึ่งเปรียบเทียบเหมือนการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง โดยใช้กิจกรรมบำบัด เช่น ฝึกความจำด้วยการเล่นเกม ไพ่จับคู่ รวมถึงการปรับสิ่งแวดล้อม จัดบ้านให้เป็นระเบียบ มีที่เก็บของเป็นที่เป็นทางก็จะช่วยให้ลดปัญหาหลงลืมได้

    สำหรับผู้ใกล้ชิดที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้น พญ.ดาวชมพูแนะนำว่า ให้ใช้ความรัก ความเข้าใจ และความอดทน ซึ่งนอกจากการดูแลทางร่างกายและประคับประคองอาการแล้ว ยังต้องดูแลทางด้านจิตใจของผู้ป่วยและตัวผู้ดูแลเองอีกด้วย เพราะดังที่กล่าวมาแล้วว่า การรักษาโรคสมองเสื่อมเป็นการประคับประคองหรือชะลออาการ ดังนั้นแม้ความจำของผู้ป่วยจะไม่เหมือนเดิม แต่ผู้ป่วยก็สามารถรู้สึกดีขึ้นและมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างมีคุณค่า ซึ่งก็ทำให้คนดูแลและผู้ป่วยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

    สำหรับแนวทางการป้องกันโรคสมองเสื่อมไม่ให้เกิดก่อนวัยอันควรนั้น สามารถทำได้โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันปกติ ซึ่งมีคำแนะนำดังนี้ 1.อาหารกาย รับประทานน้ำให้เพียงพอ ประมาณ 8 แก้วต่อวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และควบคุมอาหารที่มีผลต่อเส้นเลือดสมองดังที่กล่าวมาแล้ว 2.อาหารใจ เลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ตนเองสบายใจ ดูแลจิตใจให้มีความสุข มีเมตตา และปรารถนาดีกับผู้อื่น เพราะการจมอยู่กับความรู้สึกไม่ดี ความเครียด ทำให้มีการหลั่งสารเคมีที่ทำลายเนื้อสมองได้ 3.ฝึกสติ คอยรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าขณะนี้กำลังทำอะไร และใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทำให้การเก็บข้อมูลที่จะนำไปสู่ความจำดีขึ้น ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันภาวะหลงลืมได้.

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand