วิกฤติ! แรงงานขาดแคลนจากแนวโน้มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

         ทีดีอาร์ไอ เตือนอุตสาหกรรมรับมือแรงงานหนุ่มสาวกำลังร่วงโรย ตามสัดส่วนประชาชกรไทยที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ชี้จะกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ขณะที่แรงงานระดับปริญญาที่ออกมาป้อนตลาดกลับไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยจะเกิดปัญหาการว่างงานและขาดแคลนแรงงานในอนาคต....



เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายสราวุธ ไพฑูรย์พงษ์  นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  เปิดเผย สถานการณ์และพฤติกรรมของตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม จากการวิเคราะห์ย้อนหลัง 20 ปี (2543-2553) พบว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย ในปี 2553  มีจำนวนแรงงานทั้งประเทศ 38.1 ล้านคน  เป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมประมาณ 7.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตจริง ๆ ประมาณ 5.4 ล้านคน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาต่างๆ ได้แก่ การไฟฟ้า ก๊าซและการประปา การก่อสร้าง การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน  ทั้งนี้พบว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอหรือเครื่องนุ่งห่มจะใช้แรงงานระดับล่างในสัดส่วนที่มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น  และแรงงานวัยหนุ่มสาวมีอายุเริ่มสูงขึ้น กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตามสัดส่วนประชากรในประเทศไทยที่ประชากรวัยเด็กเริ่มลดลง ในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากประมาณร้อยละ 55 ในปี 2534 เป็นร้อยละ 20.7 ในปี 2553 



ในขณะที่แรงงานผู้สูงอายุ เพิ่มจากประมาณร้อยละ 12 เป็นประมาณร้อยละ 20 หรือเกือบเท่าตัว  สาเหตุมาจากอัตราเกิดลดลง และการขยายการศึกษาทำให้ประชากรวัยรุ่นเข้าสู่ตลาดลดลงโดยทั่วไป ทำให้สัดส่วนของแรงงานผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร พบว่าระหว่างปี 2547 และ ปี 2553 อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 27 ปี เป็น ประมาณ 32 ปี  และจากสัดส่วนของแรงงานสูงอายุที่เพิ่มขึ้น จะมีผลทางลบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโดยเฉลี่ย ดังนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาแรงงานดังกล่าวให้มากขึ้นในด้านการศึกษา ขณะเดียวกันก็พบว่าในแต่ละปีมีการสูญเสียแรงงานจากการเสียชีวิตและเกษียณอีกประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน  ขณะที่การผลิตแรงงานระดับปริญญาตรีที่ออกมาเป็นจำนวนมาก กลับมีปัญหาด้านคุณภาพไม่ได้รับคัดเลือกจากนายจ้าง จึงทำให้มีปัญหาว่างงานและขาดแคลนแรงงานไปพร้อมกัน        



นอกจากนี้ยังพบว่า อุตสาหกรรมการผลิตมีการจ้างแรงงานหญิงสัดส่วนใกล้เคียงกับแรงงานชาย โดยพบว่า แรงงานหญิงมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่า และพบว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเทศบาลหรือในชนบทตามภูมิลำเนาของแรงงาน ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตเช่นกัน และจากผลการศึกษาดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างทางประชากรของแรงงานมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งการเลือกใช้แรงงานในอายุ เพศ ระดับการศึกษาหรือภูมิลำเนาต่างๆ จึงควรเป็นไปอย่างมีแบบแผน เพื่อไม่ให้เป็นผลเสียต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้จึงเป็นความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม.

                                        

ขอบคุณข่าวจาก: ไทยรัฐออนไลน์  วันที่ 16 สิงหาคม 2555

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand