“อัมพาต” ภัยใกล้ตัว

 

 

กรมควบคุมโรค รณรงค์วันอัมพาตโลก ปี 2555 หลังพบว่าในทุก 6 วินาที ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน จากโรคหลอดเลือดสมอง หรือประมาณ 6 ล้านคน / ปี

 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์เนื่องในวันอัมพาตโลก ปี 2555 ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี และประเด็นในการรณรงค์ปีนี้ คือ “One in Six” หรือ “1 in 6” หรือ “1 ใน 6 จะไม่ใช่คุณ” สาเหตุมาจากข้อเท็จจริงที่น่ากลัวของโรคหลอดเลือดสมอง นั่นคือ ในทุก 6 วินาที จะมีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน จากโรคหลอดเลือดสมอง จากสถิติของโรคหลอดเลือดสมองในไทย พบว่า ที่ผ่านมายังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนไทยเรื่อยมา

วันนี้(29 ตุลาคม 2555) ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากวันนี้ตรงกับวันรณรงค์อัมพาตโลก(29 ตุลาคมของทุกปี) และเพื่อให้ประชาชนทั่วโลกเกิดความตระหนักและระวังภัยอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งข้อเท็จจริงที่น่ากลัวของโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต คือ ในทุก 6 วินาที ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน จากโรคหลอดเลือดสมอง จึงเป็นที่มาในการกำหนดประเด็นการรณรงค์ของปีนี้ คือ“One in Six”หรือ“1 in 6”หรือ“1 ใน 6 จะไม่ใช่คุณ” โดยข้อมูลขององค์การอัมพาตโลก(World Stroke Organization :WSO) รายงานสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก ว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 2 ของประชากรอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลกและเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 5 ของประชากรอายุมากกว่า 15-59 ปี และในแต่ละปีมีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าคนทั่วโลกที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ วัณโรค และโรคมาลาเรียรวมกัน ทั้งนี้องค์การอัมพาตโลกคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558 คนทั่วโลกจะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองถึง 6.5 ล้านคน 

ส่วนสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานสถิติสาธารณสุขในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2544-2553) พบว่า อัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคน ในปีพ.ศ.2544 คือ 18.2 ต่อมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปีพ.ศ.2553 เป็น 27.5  นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงาน 10 ลำดับแรกของการตายในประชากรไทย ปีพ.ศ.2547 พบว่า การตายในประชากรเพศชายด้วยโรคหลอดเลือดสมอง พบอยู่ในลำดับ 3 และ ในประชากรเพศหญิงพบอยู่ในลำดับ 1 ส่วนในปี พ.ศ.2552 พบว่า การตายด้วยโรคหลอดเลือดสมอง นำขึ้นมาอยู่ในลำดับ 1 ทั้งในประชากรเพศชายและเพศหญิง

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต ประกอบด้วย 8 ปัจจัย ดังนี้  1.ภาวะความดันโลหิตสูง  2.การเป็นโรคเบาหวาน  3.ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง 4.ประวัติญาติสายตรงเคยเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง  5.ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม  6.มีภาวะน้ำหนักเกิน  7.สูบบุหรี่  และ 8.ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ(Atrial Fibrillation)  

สำหรับสัญญาณเตือนที่สำคัญ คือ 1.การอ่อนแรงของหน้า แขน ขา อย่างทันทีทันใด ซึ่งจะเป็นซีกเดียวของร่างกาย 2.สับสน ลำบากในการพูด พูดไม่รู้เรื่องอย่างทันทีทันใด 3.การมองเห็นลดลง อาจเป็นตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างอย่างทันทีทันใด 4.มีปัญหาการเดิน มึนงง สูญเสียความสมดุลของการเดินอย่างทันทีทันใด

แนวทางในการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอย่างง่าย ได้แก่ รับรู้ความเสี่ยงของตนเอง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น และปฏิบัติตนเพื่อป้องกันควบคุมโรค/ความเสี่ยงของตน ออกกำลังกายอย่างเพียงพอโดยออกกำลังกายวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ ควบคุมตนเองไม่ปล่อยให้อ้วน และลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ ควรงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ สุดท้ายต้องลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ

“โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถป้องกันได้ โดยประชาชนทุกคนต้องเรียนรู้ สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและปฏิบัติตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ถ้ามีปัญหาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานหรือพบผู้ที่มีอาการตามสัญญาณเตือนข้างต้นให้รีบปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่จะเกิดได้ในภายหลัง ซึ่งจะช่วยลดอัตราตาย และลดความพิการลงได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้าย

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข

 

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand